ผู้ที่พยายามลดน้ำหนัก คงได้ยินเทรนในการลดน้ำหนักใหม่ๆตลอดเวลา รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนักมากมาย ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักมักจะเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีการกล่าวอ้างด้านสุขภาพเหล่านั้นโดยหวังว่าจะช่วยในการควบคุมน้ำหนักของตนได้ แต่อาจจะลืมสังเกตว่าเครื่องดื่มที่บริโภคเข้าไปนั้นอาจกลายเป็นพลังงานส่วนเกิน และอาจจะเผลอลืมควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารอื่นและละเลยออกกำลังกายจนเป็นพลังงานสะสมได้
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรวมผลิตภัณฑ์กาแฟ อาจจะมีส่วนประกอบที่มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักหรือส่งเสริมสุขภาพ แต่เพื่อรสชาติที่ดี ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเหล่านี้มักมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก โดยปริมาณน้ำตาลจากเครื่องดื่มและการปรุงเพิ่มเติมที่แนะนำให้บริโภคในหนึ่งวันเท่ากับ 25 กรัม แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบางชนิดมีปริมาณน้ำตาลต่อขวดสูงถึง 40 กรัม การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เพื่อหวังผลประโยชน์จากส่วนประกอบบางชนิดแต่ละเลยอันตรายจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินควรจึงอาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ได้
ยิ่งไปกว่านั้นการรับประทานเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูงทำให้รู้สึกอิ่มได้น้อยกว่าอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหลากหลายอย่างธัญพืชไม่ขัดสีหรือผลไม้ที่มีกากใยมาก คนทั่วไปและโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จึงยังมีความรู้สึกหิวและยังรับประทานอาหารอื่นๆอยู่ ทำให้ได้รับพลังงานส่วนเกินจนเก็บสะสมในรูปแบบของไขมัน การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการกล่าวอ้างด้านสุขภาพเป็นการเริ่มต้นใส่ใจสุขภาพที่ดี แต่อย่าลืมที่จะสังเกตส่วนประกอบอย่างอื่นร่วมด้วย นอกจากปริมาณน้ำตาลแล้ว ควรสังเกตปริมาณไขมันและโซเดียมด้วย โดยในหนึ่งวันไม่ควรบริโภคไขมันเกินวันละ 65 กรัม และโซเดียมเกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม ตามคำแนะนำของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุข
ถ้าต้องการดื่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การดื่มน้ำเปล่าอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากน้ำเปล่าไม่ให้พลังงานและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย นอกจากนี้การดื่มชาไม่ใส่น้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวหรือชาสมุนไพรที่มีกลิ่นที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่นหรือผ่อนคลายก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากนี้ชาชนิดต่างๆมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายรวมอยู่ด้วย และควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้วเพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะร่างกายขาดน้ำ
การควบคุมไม่ให้ได้รับพลังงานส่วนเกินควรเริ่มที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดการรับประทานอาหารทอดที่มีน้ำมันสูงหรือเนื้อสัตว์ไขมันสูง ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม รับประทานธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการรับประทานใยอาหารที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายและช่วยทำให้รู้สึกอิ่มมากขึ้น หากอยู่ในช่วงที่จำกัดอาหารแล้วรู้สึกหิว ขนมธัญพืชอบกรอบหรือผลไม้ที่มีกากใยสูงจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลดความรู้สึกหิวเพื่อที่จะสามารถควบคุมการรับประทานอาหารได้ และนอกจากการควบคุมอาหารแล้วก็ไม่ควรละเลยการออกกำลังกายเพื่อกล้ามเนื้อร่างกายที่แข็งแรงและช่วยกระตุ้นการเผาพลาญของร่างกาย
เอกสารอ้างอิง
Au Pan and Frank B Hu. 2011. Effects of carbohydrates on satiety : differences between liquid and solid food. Current Opinion in Clinical Nutrition and Metabolic Care. 14 (4):385-390.