“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”
  • หน้าแรก

  • อาหาร

  • ขนมไทยอร่อยที่สุดในโลก ต้องกินอย่างไรให้ปลอดภัยต่อหัวใจ

ขนมไทยอร่อยที่สุดในโลก ต้องกินอย่างไรให้ปลอดภัยต่อหัวใจ

  • หน้าแรก

  • อาหาร

  • ขนมไทยอร่อยที่สุดในโลก ต้องกินอย่างไรให้ปลอดภัยต่อหัวใจ

ขนมไทยอร่อยที่สุดในโลก ต้องกินอย่างไรให้ปลอดภัยต่อหัวใจ

          สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องแปลกสำหรับคนต่างชาติที่มาเที่ยวบ้านเราก็คือ การเติมน้ำตาลลงในอาหารหรือมีน้ำตาล ตั้งอยู่เป็นเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร และการได้มากินขนมไทยที่อร่อยมากๆ แต่รสชาติก็หวานมากๆเช่นกัน ปัญหาสุขภาพสำคัญที่ตามมาก็คือ เมื่อร่างกายเรากินอาหารหวานเข้าไปมากๆ ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป ใช้พลังงานที่ได้รับเข้าไปไม่หมด ร่างกายคนเราก็จะมีกลไกพิเศษในการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันที่มีชื่อว่าไตรกลีเซอไรด์ ไขมันสะสมแทน เกิดเป็นโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้องรังตามมาและก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน

 

แล้วเราจะเลือกขนมไทยให้ดีต่อสุขภาพอย่างไร?

          จริงแล้วขนมไทยส่วนใหญ่มักจะมีผลไม้ หรือธัญพืชประเภทถั่วเป็นส่วนประกอบซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาก็คือส่วนประกอบที่เป็นน้ำตาลและกะทิที่ใส่กันมากตามสูตรต้นตำรับ ที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆกลุ้มใจว่าจะได้รับพลังงาน ปริมาณน้ำตาลและไขมัน เกินกว่าความต้องการ จึงขอฝากเทคนิคและวิธีการเลือกขนมไทยอย่างง่าย ดังนี้

  1. กินเนื้อ เหลือน้ำ  อย่างขนมที่เป็นน้ำกะทิหรือน้ำเชื่อม เช่น กล้วยบวดชี ลอดช่องน้ำกะทิ ลองปรับเปลี่ยนตัวเองจากเมื่อก่อนที่ต้องซดน้ำกะทิจนหมดถ้วย มาเป็นการตักทานแต่เนื้อ และเหลือน้ำกะทิไว้ เช่นเดียวกับเฉาก๊วยน้ำเชื่อม ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ถั่วแดงต้มน้ำตาล ก็ตักกินเฉพาะเนื้อเหลือน้ำ เพราะน้ำเชื่อมให้พลังงานสูงและองค์ประกอบหลักก็คือน้ำตาลนั่นเอง
  2. เลี่ยงขนมหน้ากะทิ ขนมที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ตะโก้ ขนมชั้น ขนมครก วุ้นกะทิ เป็นขนมที่ควรจำกัดปริมาณการกินและไม่ควรบ่อย อาจเลือกไปหาขนมที่ไม่มีหน้ากะทิแทน เช่น วุ้นใบเตยหอม วุ้นมะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น
  3. ขึ้นชื่อว่าข้าวเหนียวต้องระวัง ทั้งข้าวเหนียวมูนและข้าวเหนียวเปียก เป็นอาหารที่มีแป้ง น้ำตาลและไขมันสูง การกินข้าวเหนียวที่ยังไม่เติมกะทิหรือน้ำตาล ก็ได้รับพลังงานมากกว่าการทานข้าวสวยถึง 2-3 เท่า ในปริมาณเท่ากัน ลองคิดดูง่าเมื่อมูนข้าวเหนียวด้วยน้ำตาล เปียกข้าวเหนียวด้วยกะทิ พลังงานจะเพิ่มขึ้นไปอีกมากน้อยแค่ไหน ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวปิ้งแสนอร่อยก็เช่นกัน
  4. เลือกทานถั่วและงาให้บ่อยขึ้น อาทิ ถั่วกวน ลูกชุบ บัวลอยไส้งา ถั่วต้มน้ำตาลหรือถั่วตัดที่ไม่หวานจนเกินไป แทนการกินขนมที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะถั่วและงานั้นมีโปรตีนไขมันชนิดดี ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้
  5. เลือกขนมที่มีส่วนประกอบของผัก อาทิ เมี่ยงคำ แหนมเนือง เป็นขนมของว่างที่ให้พลังงานต่ำ ไม่หวาน ไม่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลมากนัก ดังนั้นน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีของการรับสารอาหารจากพืชผัก สมุนไพรที่ดีต่อใจได้ด้วย
  6. ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง วิธีการตั้งเป้าหมายง่าย คือการสำรวจตัวเองว่าพฤติกรรมการกินขนมของเราเป็นแบบไหน และค่อยๆปรับเปลี่ยน เช่น หากเป็นคนที่ต้องทานขนมหวานน้ำกะทิหลังอาหารทุกวัน ก็อาจจะลองตั้งเหมายเริ่มต้นว่า จะทานแค่วันเว้นวัน เมื่อทำได้และอยากจะปรับต่อก็อาจจะลดเหลือ 3ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นต้น ค่อยๆปรับลดน้อยลง นานๆครั้ง เดี๋ยวเราก็จะประสบความสำเร็จเอง

         

          เป็นยังไงกันบ้างคะวิธีการที่นำมาฝากในวันนี้คงไม่ยากเกินไปนะคะ ลองเลือกทำสัก 1-2 ข้อดูก่อนเมื่อทำจนเคยชินแล้วก็ค่อยเพิ่มข้อต่อไปเรื่อยๆ มาปรับเปลี่ยนเพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

บทความออนไลน์จากศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เรื่องขนมไทยอ่อนหวานกระตุ้นบริโภคน้ำตาลน้อย เข้าถึงได้จาก http://www.thaihealth.or.th/Content/ขนมไทยอ่อนหวานกระตุ้นบริโภคน้ำตาลน้อย

เครือข่าย "คนไทยไร้พุง" ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย : ปรับหน่อย เปลี่ยนนิด ชีวิตดี๊ดี : ขนมและของว่าง เข้าถึงได้จาก http://www.raipoong.com/content/detail.php?section=12&category=40&id=449

 

 2896
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์