“พอโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยดื่มนมกันแล้ว” นี่คงเป็นคำพูดติดปากใครหลายๆคนที่ไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำ เนื่องจากคิดว่าการดื่มนมจำเป็นเฉพาะวัยเด็กเท่านั้นหรือบางทีอาจเป็นภาพจำของเด็กเล็กที่ถือกล่องนม อย่างไรก็ดีเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่ายังต้องดื่มนมอยู่ไหม ดื่มแล้วได้ประโยชน์อะไรต่อสุขภาพบ้าง หากพูดถึงน้ำนมก็จะได้มาจากแหล่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว แพะ หรือแม้แต่มนุษย์ ที่ให้นมแม่เลี้ยงทารกนั่นเอง หรือถ้าสกัดจากพืชก็มักจะมาจากน้ำนมถั่วเหลือง น้ำนมอัลมอนด์ แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงนมวัวเป็นหลัก
ในน้ำนมวัวมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการสูง ตามความเชื่อกันมาแต่โบราณว่าดื่มนมเยอะๆ ดื่มนมทุกๆวันจะทำให้เด็ก โตเร็ว ตัวสูงๆ และร่างกายแข็งแรง นั่นเป็นเรื่องที่ปฎิเสธไม่ได้ เนื่องมาจากในน้ำนมมีสารอาหารที่ครบถ้วนทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ และวิตามิน โดยเฉพาะไขมันและโปรตีนเป็นแหล่งพลังงานที่ดีซึ่งจะทำให้เด็กเจริญเติบโตสมวัย ส่วนแคลเซียมและวิตามินดีที่เป็นตัวช่วยสำคัญมีบทบาทต่อการสร้างความหนาแน่นของมวลกระดูกมากขึ้น และความสูงของเด็ก ในส่วนของวัยผู้ใหญ่หรือแม้แต่วัยผู้สูงอายุ หากร่างกายเรามีการสะสมแคลเซียมไว้เพียงพอก่อนอายุ 30 ปี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกเปราะได้ แต่การดื่มนมในวัยนี้จะแนะนำลดพลังงานและปริมาณไขมันลง เพราะในวัยผู้ใหญ่ไม่ได้ต้องการพลังงานมากเท่ากับวัยเด็กหรือวัยรุ่นและจะมีระบบเผาผลาญไขมันที่แย่ลงตามอายุ หากได้รับพลังงานและไขมันมากเกินความต้องการก็จะเสี่ยงต่อโรคอ้วนและระดับไขมันในเลือดที่สูงได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจแน่ๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าการดื่มนมเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนและโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามยังต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป
ข้อแนะนำในการเลือกดื่มนมในวัยผู้ใหญ่/วัยสูงอายุ
หากเป็นไปได้ พยายามเลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย รสจืด และอย่างน้อยดื่มวันละ 1 แก้วต่อวันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
Huth, P. J., & Park, K. M. (2012). Influence of dairy product and milk fat consumption on cardiovascular disease risk: a review of the evidence. Advances in Nutrition: An International Review Journal, 3(3), 266-285.
Larsson, S. C., Crippa, A., Orsini, N., Wolk, A., & Michaëlsson, K. (2015). Milk consumption and mortality from all causes, cardiovascular disease, and cancer: a systematic review and meta-analysis. Nutrients, 7(9), 7749-7763.