กิจกรรมทางกายคืออะไร
กิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายไม่จำเป็นต้องทำโดยการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหักโหมเท่านั้น ยังรวมไปถึงกิจกรรมที่ใช้แรงงานปานกลาง หรือหายใจเร็วขึ้นเล็กน้อย เช่น การเดินเร็ว การทำสวน การทำงานบ้าน ครั้งละนานๆหรือเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ที่ทำงาน ที่บ้าน การเดินทาง หรือทุกหนทุกแห่งที่สะดวก ซึ่งตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย วันละ 20-30 นาที และ 3 วันต่อสัปดาห์ หรือขอเพียงการเดินอย่างเร่งรีบ หรือ เดินเร็ว ๆ ให้ได้ระยะทาง 2.5 - 3 กิโลเมตร ในระยะเวลา 30 นาทีต่อวัน เท่านี้ก็เพียงพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยสามารถแบ่งทำเป็นช่วง ๆ ครั้งละ 10 นาที 3 ครั้งต่อวันก็ยังได้
ประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย
จะช่วยลดความเสี่ยงหรือโอกาสของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคอ้วน ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ซึมเศร้า ช่วยให้ระดับไขมันดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หลอดเลือดสมองตีบ และทำ ให้อายุยืนยาวเพิ่มขึ้น
กิจกรรมทางกายมีอะไรบ้าง
กิจกรรมทางกายต่อไปนี้ เป็นกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ลองมาดูกันว่าต้องทำมากน้อยแค่ไหน ถึงจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพเท่ากับการเดินอย่างเร่งรีบ 30 นาที
เดินเร็ว ประมาณ 3 กิโลเมตร 30 นาที
ล้างรถ และเช็ดรถ 45 - 60 นาที
กวาดและเช็ดถูบ้าน 45 - 60 นาที
ซักผ้าและตากผ้า 45 - 60 นาที
ทำสวน ขุดดิน 30 - 45 นาที
คราดหญ้า ตัดหญ้า 30 นาที
เล่นวอลเล่ย์บอล 45 นาที
เต้นรำในจังหวะเร็ว 30 นาที
ออกกำลังแบบแอโรบิกในน้ำ 30 นาที
ว่ายน้ำ 20 นาที
เล่นบาสเก็ตบอล 15 - 20 นาที
ขี่จักรยาน ประมาณ 8 กิโลเมตร 30 นาที
ขี่จักรยาน ประมาณ 6 กิโลเมตร 15 นาที
กระโดดเชือก 15 นาที
วิ่ง ประมาณ 2.4 กิโลเมตร 15 นาที
เดินขึ้นบันได 15 นาที
หมายเหตุ ค่าพลังงานนี้เป็นค่าเฉลี่ยสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 70 กิโลกรัม ถ้าหากน้ำหนักเบา ค่าพลังงานก็จะน้อยลง
หากขาดการเคลื่อนไหวออกแรง จะทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหลอดเลือดสมองตีบเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่า ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 1.9 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี จากโรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 20 และโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 22
“อย่าลืมนะคะ แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย วันละ 20-30 นาที และ 3 วันต่อสัปดาห์ หรือ
ขอเพียงการเดินอย่างเร่งรีบ หรือ เดินเร็ว ๆ ให้ได้ระยะทาง 2.5 - 3 กิโลเมตร ในระยะเวลา 30 นาทีต่อวัน”
เอกสารอ้างอิง
วิชัย เอกพลาการ และสมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ (2551), บทที่ 14 -กิจกรรมทางกาย, หนังสืิอเช็คหัวใจไม่ให้ตายเฉียบพลัน, สำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาญาณ: กรุงเทพฯ