“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

มีภาวะความดันโลหิตสูง สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่?

มีภาวะความดันโลหิตสูง สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่?

 

          สำหรับผู้ที่เป็นน้องใหม่เพิ่งจะเริ่มออกกำลังกาย หรือยังไม่เคยจริงจังกับการออกกำลังกายมาก่อน ควรตั้งคำถามให้ตนเองว่า หากตอบว่ามีข้อใดข้อหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนการออกกำลังกาย ได้แก่ ท่านเคยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือไม่เคย? ท่านมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกในขณะออกกำลังกายหรือขณะพักหรือไม่? ท่านเคยมีอาการวิงเวียนศีรษะ เสียการทรงตัวหรือเป็นลมหรือไม่? ท่านมีอาการเจ็บที่ข้อต่อหรือกระดูกอยู่หรือไม่? และท่านเคยมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงหรือไม่? เนื่องจากข้อคำถามที่ถามนั้น เป็นภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายจะไม่ได้แข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ตอบว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก มีภาวะความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องมีขั้นตอนในการดูแลเป็นพิเศษขณะออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัยอย่างยิ่งของผู้ที่ออกกำลังกายเอง

  • ควรวัดความดันโลหิตก่อนและหลังออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และควรทำการวัดในหลังจากที่ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงนั้นนั่งพักเป็นเวลามากกว่า 10  นาทีแล้ว
  • หากค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยตัวบน (SBP) สูงกว่า 200 mmHg หรือตัวล่าง (DBP) สูงกว่า 110 mmHg ไม่ควรให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย
  • หากวัดความดันโลหิตของผู้ป่วยตัวบน (SBP) สูงกว่า  160 mmHg หรือตัวล่าง (DBP) สูงกว่า  110 mmHg ควรแนะนำให้ผู้ป่วยนั่งพักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 นาที จากนั้นเสร็จแล้วให้วัดความดันโลหิตซ้ำ ถ้าความดันโลหิตต่ำลงก็สามารถให้ผู้ป่วยออกกำลังกายได้ แต่ถ้าความดันโลหิตสูงอยู่อาจจะให้ผู้ป่วยงดออกกำลังกายในครั้งนั้นหรือให้ออกกำลังกายได้แต่กิจกรรมที่ทำจะต้องเป็นกิจกรรมที่มีความหนักระดับเบา เช่น การเดินช้า ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง
  • ควรแนะนำให้ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงทำการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย เพราะการอบอุ่นร่างกายเป็นการเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องทำงานในขณะออกกำลังกาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและเอ็น และเป็นการเพิ่มการทำงานของระบบหัวใจและปอดอย่างช้า ๆ ดังนั้น การอบอุ่นร่างกายจึงเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมรับการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายและการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกายได้ การอบอุ่นร่างกายสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการวิ่งเหยาะๆ ช้าๆ ประมาณ  10 นาที จากนั้นทำการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายช้าๆ อีกประมาณ 10  นาที การอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอนั้น ควรรู้สึกเหงื่อออกเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับเมื่อยล้า และเมื่ออบอุ่นร่างกายเสร็จแล้ว ควรทำการออกกำลังกายภายในเวลา  30  นาที เพราะผลของการอบอุ่นร่างกายจะอยู่ได้ไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น
  • ไม่ควรเริ่มต้นหรือหยุดออกกำลังกายแบบทันทีทันใด เนื่องจากระบบหัวใจและปอดอาจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นจึงควรมีการอบอุ่นร่างกายหรือที่เรียกว่า วอร์ม-อัพ ก่อนการออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ หลังการออกกำลังกายหรือที่เรียกว่า คูล-ดาวน์
  • ควรแนะนำให้เฝ้าระวังอาการที่ผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยผิดปกติ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรให้หยุดออกกำลังกายทันที
  • ควรจดบันทึกระดับความดันโลหิตก่อนและหลังการออกกำลังกาย ระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกาย กิจกรรมที่เลือกและความรู้สึกต่อกิจกรรมที่ทำว่าเหมาะกับตนมากน้อยเพียงใด สามารถทนต่อความหนักหรือแรงต้านได้มากน้อยแค่ไหน
  • ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงควรที่จะพบแพทย์เป็นประจำตรวจสอบระดับความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และควรอยู่ในระเบียบวินัยของการรับประทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังควบคู่กับไป

          อย่าลืมว่า เมื่อลดน้ำหนักตัวดัวยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคควบคู่ไปกับการออกกำลังกายทุกๆ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักตัวที่ลดลงจะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ถึง 1 mmHg ซึ่งจะส่งช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตได้ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2556) การป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยการออกกำลังกาย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 7848
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์