“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ฝึกหายใจ ลดความเหนื่อย ขณะออกกำลัง

ฝึกหายใจ ลดความเหนื่อย ขณะออกกำลัง

 

  การออกกำลังกายถูกนำมาใช้ในการป้องกันโรคและในการฟื้นฟูผู้ที่เป็นโรคได้อีกด้วย ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีอาการแน่นหน้าอกหรือไม่มีอาการแน่นหน้าอก (Angina) หรือในกลุ่มผู้ที่เคยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน (Myocardial Infarction) การออกกำลังกายสามารถใช้ฟื้นฟูกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพื่อทำให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดหัวใจข้างใน Endothelium  และกล้ามเนื้อเรียบ Smooth Muscle ในหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และการออกกำลังกายยังทำให้เกิดการผลิต Nitric Oxide (NO) ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและคลายตัวมากขึ้น มีความยืดหยุ่นดี และส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นตามลำดับ

 

ขณะที่ออกกำลังกาย ผู้ป่วยต้องหมั่นเฝ้าระวัง ตรวจสอบการหายใจของตนเองว่าผิดปกติหรือไม่ เพื่อความปลอดภัย ได้แก่

  • เฝ้าระวังความหนักของการออกกำลังกายแบบ Cardio ด้วยการตรวจจับชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ และการหายใจของตนเองตลอดการออกกำลังกาย
  • ขณะบริหารกล้ามเนื้อทุกส่วน ไม่ควรกลั้นหายใจ ให้หายใจออกในขณะที่ออกแรงและหายใจเข้าในขณะที่ผ่อนแรงหรือให้ผู้ป่วยนับ โดยการออกเสียงดังๆ ในขณะที่ออกแรง
  • การออกกำลังแบบแรงต้าน ต้องไม่ใช้น้ำหนักที่หนักเกินไป เพราะจะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น การสูบฉีดโลหิตจะมากขึ้น และความดันเลือดก็จะมากตามไปด้วย
  • ไม่เกร็งกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานานๆ และต้องฝึกหายใจเข้าอออกตามจังหวะของการเกร็งและผ่อนกล้ามเนื้อ
  • ควรฝึกท่าทางการออกกำลังกายให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยและในการบริหารควรทำช้าๆ โดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

 

การหายใจอย่างถูกวิธี เป็นสิ่งสำคัญในขณะออกกำลังกายและในขณะมีอาการเหนื่อยสำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การหายใจที่ใช้ควบคุมอาการเหนื่อยในทางคลีนิก คือ Pursed Lips Breathing  วิธีนี้จะช่วยควบคุมการหายใจและลดอาการเหนื่อย วิธีปฏิบัติด้วยวิธีง่ายๆ มีดังนี้

  • ไม่เกร็งกล้ามเนื้อที่คอและไหล่
  • ให้หายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ โดยนับ 1 -2 ในใจ
  • ให้ห่อริมฝีปากและหายใจออกทางปากช้า ๆ โดยนับ  1 – 4
  • การหายใจออกควรที่จะช้ากว่าหายใจเข้า
  • ฝึกหายใจแบบนี้เป็นประจำในขณะพักและในขณะออกกำลังกาย
  • ให้ฝึกครั้งละ  10 – 15 นาทีต่อวัน

 

เอกสารอ้างอิง

-DeLorey, D. S., Wyrick, B. L., & Babb, T. G. (2005). Mild-to-moderate obesity: implications for respiratory mechanics at rest and during exercise in young men. International journal of obesity, 29(9), 1039.

-กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคุมป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกกำลังกาย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2555) คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้องรังด้วยการออกกำลังกาย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Exercise Prescription for Diabetes, Hypertension, Obesity and Coronary Artery Disease), สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; กรุงเทพฯ

 

 948
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์