“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

สรุปแล้ว...สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรงจริงหรือเปล่า?

สรุปแล้ว...สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรงจริงหรือเปล่า?

 

ความแข็งแรงคืออะไร บางคนตอบว่าการไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ บางคนก็บอกว่าต้องมีรูปร่างดีหน้าตาดี ไม่อ้วน บางคนก็บอกว่าต้องมีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ยกของหนักๆได้ แต่จริงๆแล้วทางวิทยาศาสตร์ ความเเข็งแรงคืออะไรกันแน่ ก่อนที่จะบอกว่าสุขภาพร่างกายเราเองนี้แข็งแรงหรือไม่

ลักษณะของความแข็งแรงจำแนกได้ดังนี้

- ความแข็งแรงลวง  (Passive fitness)  ความแข็งแรงในลักษณะนี้ทำให้คนเข้าใจผิด เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนรูปร่างพอดี หรือใกล้เคียงมาตรฐาน ไม่อ้วนเกินไปหรือผอมเกินไป เป็นไปตามมาตรฐานของระดับขนาดร่างกาย ส่วนสูง และอายุ คนกลุ่มนี้จะไม่เห็นความจำเป็นหรือไม่ชอบการออกกำลังกาย เพราะคิดว่าตนเองมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว การใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยการไม่ออกกำลังกาย ก็ไม่ได้ทำให้ภายในร่างกายแข็งแรงได้ ข้อได้เปรียบคือสามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆได้บ้าง หากยังโชคดีไม่เป็นโรค คนกลุ่มนี้ก็จะมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ แต่ถามว่ามีโอกาสเป็นโรคหรือไม่ก็ความเสี่ยงพอๆกับคนทั่วไป

- กล้ามเนื้อแข็งแรง (Muscular fitness) เป็นผู้มีลักษณะกล้ามเนื้อแต่ละส่วนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเฉพาะมัดกล้ามเนื้อที่ได้รับการออกกำลังเท่านั้น และต้องเป็นการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมในการเทรนกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น  การเพาะกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจึงเป็นความแข็งแรงเฉพาะส่วน ซึ่งไม่มีความหมายต่อร่างกายโดยส่วนรวม การประเมินความสมบูรณ์จะเน้นที่ความสวยงามและขนาดของกล้ามเนื้อเฉพาะมัด อาจจะมีประสิทธิภาพในการยกของที่มีน้ำหนักมาก หรือมีความคล่องตัวมากกว่าคนทั่วไป ส่วนสภาพทางสรีระของร่างกายโดยรวมจะเหมือนคนปกติ

- ความแข็งแรงสมบูรณ์ (Total fitness)   เป็นความแข็งแรงของร่างกายที่เกิดขึ้นทั้งระบบที่แท้จริง โดยเฉพาะระบบหัวใจ ระบบหายใจ ระบบประสาท และระบบกล้ามเนื้อ  ร่างกายมีความแข็งแรง อดทน ยืดหยุ่น และคล่องตัว ซึ่งความสมบูรณ์แบบนี้ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี ความแข็งแรงสมบูรณ์นี้เกิดขึ้นจากการดูแลสุขภาพได้ถูกต้องทั้งด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอน การพักผ่อน และการออกกำลังกายทั้งแบบบริหารระบบหัวใจและหลอดเลือดและแรงต้าน  ความหมายคือการออกกำลังแบบผสมผสานแอโรบิก(เดิน วิ่ง  ว่ายน้ำ  กระโดดเชือก  ขี่จักรยาน) การออกกำลังแบบมีแรงต้านเช่น ยกน้ำหนัก โยคะ  จี่กง  ไทเก๊ก

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะมีรูปร่างสมส่วน รูปร่างดีแค่ไหนก็ตาม หรือจะมีมัดกล้ามเนื้อที่สวยงาม แต่ก็อย่างลืมหาเวลาไปออกกำลังกายเพื่อสร้างความเเข็งแรงสมบูรณ์ที่แท้จริง ถ้าจะให้ดีควรทำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่ดี การจัดการทางความสุขและอารมณ์ รวมไปถึงการนอนพักผ่อนที่เพียงพอด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

กุลยา ตันติผลาชีวะ (2551) สุขกายกับวันสูงอายุ, เรือนปัญญา:กรุงเทพฯ

 4556
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์