“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

โปรแกรมออกกำลังกายในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โปรแกรมออกกำลังกายในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

        ความเครียด ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆนานา รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การวิจัยทางการแพทย์ พบว่า การออกกำลังกายช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้  ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การออกกำลังกาย จะช่วยลดอัตราการตายจากการเป็นโรคซ้ำ ได้ถึงร้อยละ 25  ในช่วงเวลา  1- 3 ปี         การออกกำลังกาย คือ การฝึกให้ร่างกายเกิดความอดทนแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดี ทรงตัวดี ว่องไวดี ร่างกายมีสมรรถภาพดีขึ้น ซึ่งจำเป็นมากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อหัวใจผิดปกติสมรรถภาพการทำงานไม่ดีผู้ป่วยจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น สมรรถภาพร่างกายลดลง แต่เมื่อออกกำลังกายได้สม่ำเสมอ อัตราการเต้นหัวใจขณะพักจะลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจจะดีขึ้น และสมรรถภาพร่างกายของก็จะดีขึ้นด้วย

 

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ที่มีความเสี่ยง/ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • เพิ่มสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
  • ลดปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ ลดน้ำหนัก ลดไขมัน ลดความดันโลหิต
  • ลดอัตราการตายจากการเป็นซ้ำของโรค
  • ส่งเสริมสุขภาพจิต ลดอาการเครียด อาการซึมเศร้า
  • ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี

 

โปรแกรมการออกกำลังกายอย่างง่าย

ช่วงแรก การอบอุ่นร่างกาย เพื่อเตรียมร่างกายให้ระบบกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และระบบไหลเวียน พร้อมก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและบาดเจ็บ กล้ามเนื้อ ข้อต่อ โดยการยึดกล้ามเนื้อ เริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ทำประมาณ  5 – 10 นาที

ช่วงที่สอง การออกกำลังกายแบบแอโรบิค  เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนของร่างกาย ต้องเป็นการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหว เป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหนัก และเวลาที่มากพอที่จะกระตุ้นให้มีการปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด เช่น  การเดิน เพราะทำได้ง่าย ปลอดภัยได้ผลดี เดินด้วยความเร็วปานกลางให้เหนื่อยเล็กน้อย จะต้องออกกำลังให้มีความเหนื่อย หรือความหนักเหมาะสม (โดยวัดจากการจับชีพจร) ในเวลาประมาณ 25-30 นาที  สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

ช่วงสุดท้าย การออกกำลังกายเบาๆ หลังการออกกำลังกาย หรือคูลดาวน์ มีความสำคัญในการป้องกันภาวะความดันเลือดตกเฉียบพลันหลังออกกำลังกาย และ เป็นวิธีช่วยเร่งการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนเลือดให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ

 

        อย่างไรก็ตาม หากมีโรคประจำตัวหรือความเจ็บป่วยอื่นๆร่วมด้วยควรขอคำแนะในการออกกำลังกาย ประเภทและความหนักของการออกกำลังกายกับผู้เชี่ยวชาญและทีมแพทย์ และจำเป็นรู้จักอาการของตนเองที่บ่งถึงภาวะผิดปกติจากการออกกำลังกายเกินขนาด เช่น เจ็บหน้าอก มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ต้องหยุดออกกำลังกายทันที พักเหนื่อย และรีบไปพบแพทย์

 

 

เอกสารอ้างอิง

คณะแพทย์โรงพยาบาลรามคำแหง (2552) ดูแลหัวใจ ด้วยใจ, ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง:กรุงเทพฯ

บรรลุ ศิริพานิช (2551) การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ, พิมพ์ดี:กรุงเทพฯ

 

 

 1774
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์