การประยุกต์ใช้ไม้ถูพื้น มาเป็นอุปกรณ์การออกกำลังหรือการร่ายรำนี้ แท้จริงแล้วมาจากนิทานโบราณ การที่คนสมัยก่อนใช้ “ไม้พลอง” เป็นอาวุธเช่นเดียวกับด้ามหอกหรือทวน และใช้ไม้พลองเป็นอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันอื่นๆ อีก เช่น ใช้แบกหาม เป็นด้ามมีด ด้ามขวาน หรือด้ามจอบ ด้ามพาย เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ใช้งานต้องใช้แรงกล้ามเนื้อและมีทักษะการเคลื่อนไหวที่ชำนาญและแตกต่างกันกันไป
บริหารร่างกายด้วยไม้ถูพื้น หรือ ไม้พลองดีอย่างไร
1.ได้ฝึกความสัมพันธ์ของการเคลื่อนที่ การทรงตัว การหมุนตัว การเปลี่ยนทิศทางที่แม่นยำ
2.การจัดการสมดุลของน้ำหนักตัวให้มั่นคง การถ่ายน้ำหนักขาซ้ายขาขวา ฝึกบริหารข้อเท้า เข่า ต้นขา ลำตัว แขนไปพร้อมกัน
3.เมื่อมีการยืดกล้ามเนื้อ ก็จะช่วยบรรเทาแก้อาการโรคปวดหลัง ปวดข้อได้ดี การบริหารร่างกายโดยใช้ไม้ถูกพื้น หรือการรำไม้พลอง จะทำให้ร่างกายได้ออกกำลังแทบทุกส่วน ตั้งแต่ช่วงศีรษะ คอ ลำตัวส่วนบนและล่าง สะโพก แขนและขา นับว่าเป็นการออกกายบริหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยพัฒนาความอ่อนตัวผ่านการเคลื่อนไหวร่ายรำ และช่วยพัฒนาสมรรถภาพในการหายใจ ระบบปอด รวมทั้งรักษาอัตราการเต้นของหัวใจให้คงที่ บำรุงการทำงานของหัวใจและระบบเลือดด้วย
ขั้นแรก ต้องหาหรือประดิษฐ์อุปกรณ์ไม้พลองแบบง่ายๆ ก่อน
เลือกใช้ท่อพีวีซี ไม้ไผ่ หรือไม้ถูพื้น เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1 นิ้ว - 1.5 นิ้ว หรือ ขนาดกำพอดีมือ ความยาวเท่ากับช่วงข้อมือของแต่ละคนขณะกางแขนออก และมีน้ำหนักพอเหมาะกับกำลังแขน
ขั้นต่อมา พร้อมแล้วท่าบริหารร่างกาย
ยืนตรง แยกขาให้ห่างกันพอควร มือสองข้างจับปลายไม้ วาดไม้ออกข้างลำตัว ทางขวาขึ้นตั้งตรง พร้อมกับโยกตัวและย่อเข่าลงนับหนึ่ง จากนั้นทำแบบเดียวกันโดยวาดไม้ไปทางซ้าย นับสอง ทำจนครบ 99 ครั้ง หรือทำไปเรื่อยๆ
ยืนตรง แยกขาสองข้าง ไม้พาดบ่า ระวังอย่าให้กดที่คอ แขนทั้งสองข้างโอบปลายไม้ไว้โดยใช้ข้อมือ เอียงตัวไปทางขวาและวาดปลายไม้ข้างเดียวกันลงมา พร้อมย่อเข่าซ้ายนับหนึ่ง เอียงตัวไปทางซ้าย ทำเช่นเดียวกันนับสอง ทำสลับกันไป
ยืนตรง ส้นเท้าทั้งสองข้างชิดกัน ปลายเท้าแยก แขนสองข้างโอบปลายไม้ไว้ วาดปลายไม้ลงด้านข้างทางขวา โดยให้รู้สึกตึงที่สุด ปลายไม้ด้านซ้ายก็จะวาดขึ้นบนโดยอัตโนมัติ นับหนึ่ง แล้ววาดปลายไม้ลงทางด้านซ้าย ทำแบบเดียวกัน แล้วนับสอง
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นฝึก อาจเริ่มทำแต่ละท่าจำนวนน้อยครั้งและเคลื่อนไหวช้าๆ ก่อน เมื่อชำนาญจึงค่อยเพิ่มจำนวนครั้งและความเร็วขึ้น แต่ควรรำไม้พลองให้ได้วันละ 20 – 25 นาทีเป็นอย่างน้อยในแต่ละครั้ง ว่าแล้วไปหยิบไม้ถูกพื้นมาเตรียมพร้อมกันเลยค่ะ
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) (2558) ชีวิตดีดี มีได้ทุกวัน, ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ :ฉะเชิงเทรา