กายบริหารขณะนั่ง
เหมาะสำหรับคนที่ชอบนั่งหรือจำเป็นต้องนั่งนานๆ จนรู้สึกเมื่อย รู้สึกไม่สดชื่น ซึ่งการนั่งอยู่กับที่ไม่ว่าคุณจะนั่งอยู่บนโซฟา เก้าอี้ ก็สามารถทำการบริหารร่างกายได้ อย่างน้อยส่วนของแขน ขา มือ เท้า ก็ได้ขยับไม่มากก็น้อย กายบริหารเช่นนี้สามารถเพิ่มการเผาผลาญ พัฒนาประสิทธิภาพของระบบหายใจ และการไหลเวียนเลือดที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ด้วย
ท่าที่ 1 ก้าวเท้าไปข้างหน้า ปลายเท้าแตะพื้น สลับซ้ายขวา ไม่ลากเท้า ขณะที่ก้าวเท้าซ้าย ชกมือขวาไปข้างหน้า และเมื่อก้าวเท้าขวาก็ชกมือซ้ายไปข้างหน้า
ท่าที่ 2 นั่งตัวตรง เขย่งปลายเท้าขึ้นลงในจังหวะที่เขย่งปลายเท้าขึ้น ให้ชูแขนทั้งสองข้างขึ้นบน จังหวะที่ลดแขนลงมาให้แขนส่วนบนตั้งฉากกับพื้น
ท่าที่ 3 นั่งซอยเท้าอยู่กับที่เหมือนกับวิ่งจ๊อกกิ้ง โดยแกว่งแขนสลับซ้ายขวาไปด้วย เหมือนกำลังวิ่งเร่งความเร็ว
กายบริหารขณะนอน
เหมาะสำหรับเวลาพักผ่อนที่กำลังนอนดูทีวี หรือกำลังจะนอนพักผ่อนหลังจากที่ร่างกายเหนื่อยล้ามาทั้งวัน เน้นกายบริหารเพื่อการยืดกล้ามเนื้อ ให้คลายความหดเกร็งระหว่างวัน
ท่ายืดตัวขึ้นด้านบน นอนหงายราบกับพื้นและผ่อนคลาย แขนแนบกับลำตัว ยกแขนทั้งสองขึ้นช้าๆ พร้อมกับยืดตัวขึ้นด้านบน ยืด –ยืด – ยืด แล้วค่อยผ่อนกลับคืนพร้อมดึงแขนมาข้างลำตัว พักและทำซ้ำ
ท่ายืดส่วนบนของร่างกายไปด้านข้าง นอนหงายราบกับพื้นและผ่อนคลาย เอนส่วนบนของลำตัวไปทางขวาช้าๆ แล้วเอนกลับไปทางซ้ายช้าๆ กลับสู่ท่าปกติ พักและทำซ้ำ
ท่ายืดส่วนล่างของร่างกายไปด้านข้าง อยู่ในท่าเช่นเดียวกัน เอนส่วนล่างของลำตัวช้า ๆ ไปทางขวาก่อน แล้วจึงเอนไปทางซ้าย กลับมาอยู่ในท่าตรง พักและทำซ้ำ
ท่ายืดร่างกายทั้งหมดไปด้านข้าง อยู่ในท่าเช่นเดียวกัน แขนแนบกับร่างกาย ชูมือขึ้นเหนือศีรษะ งอร่างด้านข้างไปทางซ้าย กลับไปทางขวา แล้วกลับมาสู่ท่าปกติ
รับรองว่าเมื่อนำไปฝึกปฎิบัติแล้ว คุณจะลืมการนั่งๆนอนๆธรรมดาไปเลย รับรองว่าคุณจะรู้สึกสนุก ได้ประโยชน์ และติดใจกับการทำกายบริหารไปด้วยแน่นอนค่ะ
เอกสารอ้างอิง
เจตน์ เจริญโท(2556), เรื่อง การออกกำลังกายกับโรคหัวใจ จากหนังสือต่อชีวิตหัวใจให้ยืนยาว, สำนักพิมพ์กอไผ่:กรุงเทพฯ
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) (2558) ชีวิตดีดี มีได้ทุกวัน, ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ :ฉะเชิงเทรา