วิตามินดีกับแสงแดด
ร่างกายตั้งต้นสังเคราะห์วิตามินดีมาจากแสงยูวีบีในแสงอาทิตย์ผ่านเซลล์ผิวหนัง แต่ยังจะออกฤทธิ์ไม่ได้ โดยจะแทรกออกไปนอกเซลล์ แล้วเข้าไปยังเส้นเลือดฝอย ไปจับกับโปรตีนชนิดหนึ่งขนย้ายไปยังตับและไต เพื่อเปลี่ยนเป็นรูปแบบวิตามินดีที่ออกฤทธิ์การทำงานได้ จากระบบสรีรวิทยาของมนุษย์พบว่า ระดับของวิตามินดีในร่างกายนั้นส่งผลโดยตรงต่อการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารในลำไส้เล็ก การดูดกลับแคลเซียมที่ไต และการดึงแคลเซียมออกจากกระดูกด้วย ดังนั้น ในขณะที่ร่างกายขาดแคลเซียมก็จะมีผลต่อกระดูกทันที
แล้ววิตามินดีเกี่ยวกับโรคหัวใจอย่างไร?
มีการศึกษาพบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจต่ำสุดในประเทศที่มีแสงแดดในแต่ละวันยาวนานกว่า และยังพบว่าในช่วงฤดูหนาวที่มีแสงแดดน้อย ร่างกายจะมีระดับวิตามินดีลดลงกว่า เมื่อเทียบกับฤดูอื่นที่มีแสงแดดมากกว่า และพบอัตราการตายจากโรคหัวใจมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเลือดสูง มักจะมีระดับวิตามินดีต่ำกว่าคนปกติสุขภาพดี มากไปกว่านั้นงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้รายงานการติดตามประชากรชายและหญิง 10,119 คน เป็นเวลา 29 ปี พบว่าคนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และยังเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรอีกด้วย
ทำอย่างไรจะได้ร่างกายจะวิตามินดีเยอะๆ
1. การออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ ช่วง 7.00-9.00น. อย่างน้อยวันละประมาณ 15 – 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน
2. เลือกใช้ครีมกันแดด SPF ไม่สูงมาก หรืออาจเว้นการทาครีมกันแดดบางวัน
3. รักษาน้ำหนักตัว เนื่องจากโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี
4. หากิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน นอกจากจะได้บริหารร่างกายและหัวใจแล้ว ยังได้รับอากาศบริสุทธิ์และมีแสงแดดมาช่วยสังเคราะห์วิตามินดีในเวลาเดียวกันด้วย
เอกสารอ้างอิง
รศ.ภญ.สุนทรี ตันตระรุ่งโรจน์ (2556) บทที่ 10 แสงแดดกับโรคหัวใจ, หนังสืออยู่ดีมีสุขด้วยหัวใจที่แข็งแรง, สามลดา:กรุงเทพฯ