“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

เดินวิ่งสายพานตรวจหัวใจ เป็นอย่างไร ใครควรทำ

เดินวิ่งสายพานตรวจหัวใจ เป็นอย่างไร ใครควรทำ

      จากบทความ “สงสัยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ รีบไปหาหมอ อย่ารอนาน” จะขอเจาะลึกรายละเอียดของการเดินสายพานทดสอบสมรรถภาพหัวใจหรือ  Exercise Stress Test (EST) สักหน่อยในบทความนี้

      ปัจจุบันจะเห็นว่า เมื่อไปตามโรงพยาบาลต่างๆ จะมีโปรแกรมการตรวจเดินสายพาน มักจะมีคำถามเกี่ยวกับการเดินสายพานอยู่บ่อยครั้ง ว่าเป็นอย่างไร ทำไปทำไม หลักการคืออะไร รู้ผลตรวจแล้วจะทำอะไรต่อไป

หลักการ

เป็นการกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เหมือนการออกกำลังกาย เมื่อมีการกระตุ้นหัวใจให้มากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจก็ต้องการเลือดมาเลี้ยงหัวใจมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยมาก พร้อมทั้งมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ บ่งชี้ว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

 เดินไหวหรือเปล่า

 การเดินสายพานนั้น จะดูสภาพร่างกายของผู้ป่วยว่าเหมาะสมหรือไม่ ไม่มีโรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อต่างๆ เนื่องจากการตรวจโดยการเดินสายพาน ผู้ป่วยต้องสามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่เป็นโรคหัวใจที่รุนแรงอยู่ก่อน เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ รั่ว โรคเส้นเลือดโป่งพอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติบางอย่าง หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอันตรายในการตรวจ และไม่สามารถแปรผลได้ ส่วนใหญ่กลุ่มที่มาตรวจเดินสายพาน จะเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเป็นโรคอยู่แล้ว ผ่าตัด By Pass หรือทำการขยายบอลลูนไปแล้ว แล้วมีอาการกลับมาเป็นอีก ก็จะใช้วิธีนี้ทดสอบ  

ข้อบ่งชี้

ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นอกเวลาออกแรงทั้งที่มีและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งผลการตรวจอื่นๆ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบ ความไว (sensivity)ในการตรวจEST ประมาณ 60-70% และความเฉพาะ (specificity)ของ EST ประมาณ 70-80% การที่ความแม่นยำในการตรวจไม่ได้เต็มร้อยเนื่องจากว่าหลอดเลือดหัวใจมีหลายเส้น เมื่อมีเส้นที่ตีบ ก็จะมีการนำเลือดจากเส้นเลือดอื่นมาช่วยเลี้ยงส่งผลให้การตรวจเป็นปกติ ถ้าสงสัยต้องส่งตรวจอย่างอื่นต่อไป

การตรวจเดินสายพานทำอย่างไร

ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ควรซ้อมเดินเร็ว เพื่อให้สามารถทำได้ครบตามโปรแกรม และแปลผลได้ ให้งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ แนะนำให้ทานยาโรคหัวใจตามปกติ อย่าทานอาหารหนักมาก เพราะเมื่อทำการวิ่งจะมีอาการจุก พาญาติมาด้วย เมื่อเตรียมพร้อม ก็จะทำการติดอุปกรณ์การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจบริเวณหน้าอก แขนและขา หลังจากนั้นก็จะให้ยืน เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วจึงขึ้นลู่วิ่ง โดยให้วิ่งบนพื้นราบ แล้วปรับความชันตามโปรแกรม ซึ่งโปรแกรมนั้นอาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพผู้ป่วย  เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดินสายพานได้นานขึ้น และแปรผลได้ โดยการเดินจะเร็วขึ้น และสูงขึ้นทุก 3 นาที จะมีการวัดความดันโลหิต และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีด และทำไปเรื่อยๆ จน 85% ของอัตราการเต้นสูงสุดของผู้ป่วยตามเกณฑ์อายุ เมื่อครบตามเป้าหมายแล้ว เครื่องก็จะค่อยๆ เบาลงและหยุดภายใน 30-60 วินาที และจะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อ จนครบ 5 นาที ทั้งนี้ ยกเว้นบางรายที่มีอาการ หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ แพทย์ก็จะให้หยุดก่อน 

การแปลผล

 แปลผลได้เป็น 4 แบบคือ แปลผลไม่ได้เนื่องจากเดินได้ไม่เต็มที่  ปกติ  ก้ำกึ่งไม่แน่ใจเนื่องจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจน และผิดปกติพบหลักฐานกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ทำอย่างไรต่อ

 หลังรู้ผลตรวจอายุรแพทย์โรคหัวใจจะแนะนำตรวจติดตามหรือส่งตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องCoronary CT angiography  ในรายที่ผลตรวจก้ำกึ่ง และส่งตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยการฉีดสีผ่านสายสวนในรายที่พบความผิดปกติ

 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์เกรียงไกร เฮงรัศมี

หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ  สถาบันโรคทรวงอก

 

 3673
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์