“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

อากาศมัวหม่น อารมณ์หม่นหมอง

อากาศมัวหม่น อารมณ์หม่นหมอง

ผลการศึกษาชิ้นใหม่พบฝุ่นพิษทางอากาศ PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

WHO ระบุว่า“อากาศพิษ” เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงด้านสาธารณสุขที่ต้องจัดการเร่งด่วน

รายงานผลการศึกษาล่าสุดพบว่า คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศที่มีเต็มไปด้วย PM2.5 มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น โดยองค์กรอนามัยโลกหรือ World Health Organization ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าราว 264 ล้านคน

สาเหตุของโรคซึมเศร้ามาจากแรงปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของปัจจัยทางสังคมจิตวิทยาและชีวภาพ บางคนอาจจะประสบกับเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต เช่น การว่างงาน การเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเครียดและความผิดปกติมากขึ้น แต่รายงานผลการศึกษาข้อมูลทั่วโลกล่าสุดของ อิโซเบล เบรทเวต จาก University College London (UCL) หัวหน้าคณะวิจัยพบว่า คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น “เราพบว่ามลพิษทางอากาศอาจจะมีผลอันตรายอย่างมากต่อสุขภาพจิตของคน ซึ่งการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวันสะอาดขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ” อิโซเบล เบรทเวต กล่าว

“เรารู้ว่าอนุภาคมลพิษทางอากาศที่เล็กที่สุด สามารถที่จะเข้าไปสู่สมองของคนได้จากกระแสเลือดและจากทางจมูก และมลพิษทางอากาศนั้นมีผลเกี่ยวข้องกับการอักเสบของสมอง ทำลายเยื่อประสาท และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน และมีผลต่อสุขภาพจิตที่ย่ำแย่” โจเซฟ เฮส์ หนึ่งในคณะวิจัยจาก UCL กล่าวว่า จากข้อมูลที่พบบ่งชี้อย่างมากว่า มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิตอย่างรุนแรง

งานวิจัยนี้ซึ่งได้มีการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives นั้นได้มีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดในการเลือกและรวบรวมงานวิจัยจาก 16 ประเทศและได้มีการเผยแพร่จนถึงปี 2017 มาศึกษา ซึ่งพบสถิติที่ชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องของมลพิษทางอากาศกับโรคซึมเศร้าและการจบชีวิตตัวเอง อีกทั้งรายงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งรวมถึงการศึกษาที่เชื่อมโยงอากาศพิษกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงของคนซึ่งมีอาการผิดปกติทางจิตและเพิ่มความเสี่ยงของการซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นถึง 4 เท่า

รายงานวิจัยชิ้นอื่นบ่งชี้ว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้สติปัญญาของคนลดลงอย่างมาก และเกี่ยวพันกับวิกลจริต การศึกษาแบบครอบคลุมทั่วโลกในต้นปี 2019 ได้ข้อสรุปว่า มลพิษทางอากาศอาจจะทำลายอวัยวะและเซลล์ในร่างกายมนุษย์

ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ในการวิจัยใหม่นี้เชื่อมโยงการซึมเศร้ากับฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตรหรือเทียบเท่า 0.00025 มิลลิเมตร หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM2.5 คนที่ต้องหายใจ PM2.5 เข้าไปในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปีหรือมากกว่านี้ มีความเสี่ยงสูงขึ้น 10% ที่จะมีอาการซึมเศร้า

นักวิจัยประเมินว่า การลดฝุ่น PM2.5 ลงมาที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่ WHO แนะนำก็จะลดอาการซึมเศร้าของคนเมืองลงได้ราว 2.5%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ค้นพบยังอยู่ในวงจำกัดและต้องมีการศึกษาต่อไปอีก โดยเฉพาะความเข้าใจถึงผลกระทบของการลดมลพิษต่อสุขภาพจิต ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลมากขึ้นสำหรับผู้กำกับนโยบายที่จะต้องดำเนินการ

ที่มา : https://thaipublica.org/2019/12/new-study-depression-suicide-air-pollution/

 

 1631
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์