ห้วงยามของสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุราวสภาพอากาศในฤดูร้อนแล้ง ผู้ที่ติดตามข่าวสารการบ้านการเมือง ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ย่อมเกิดอารมณ์และความเครียดโดยไม่รู้ตัว ( Hidden Stress) โดยเฉพาะคนที่เป็นคอการเมือง คอยติดตามข่าวสารและได้รับข้อมูลการวิเคราะห์เจาะลึกอยู่เนืองๆ ทั้งข้อมูลที่ผ่านและไม่ผ่านการกลั่นกรอง หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดให้หายไปได้ หรือไม่หายไปตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น อาจพัฒนาสู่กลุ่มอาการเครียดจากการเมือง หรือ Political Stress Syndrome (PSS) ซึ่งอาการของโรคเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราไปในระยะยาวเลยทีเดียว
กลุ่มอาการเครียดจากการเมือง (Political Stress Syndrome : PSS) ไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น ที่สำคัญคือ ความคิดคาดการณ์ที่นำไปสู่ความรู้สึกวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต (Anticipatory Anxiety) เช่น กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเฉกเช่นอุบัติการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 14 ตุลา 16, มหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นความหวาดวิตกที่ฝังแฝงอยู่ในใจ
อุบัติการณ์
1 ใน 4 ของประชากร ขณะนี้มีปัญหาสุขภาพจิต
บุคคลที่มีความเสี่ยง
1. กลุ่มนักการเมือง
2. กลุ่มสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย
3. กลุ่มผู้ติดตาม
4. กลุ่มผู้สนใจข่าวสารการเมือง
5. กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิต
ลักษณะกลุ่มอาการ
1. อาการทางกาย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขน ขา นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ชาตามร่างกาย
2. อาการทางใจ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไปบันทึกครั้งล่าสุดโดย
3. ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว โดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้ มีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง
หากมีอาการเหล่านี้ทั้งใน 3 กลุ่มอาการ แนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. หันเหความสนใจไปเรื่องอื่นๆ
2. ลดความสำคัญของปัญหาลงมาชั่วขณะ ให้ความสำคัญกับ
เรื่องเร่งด่วนตามหลักอื่นๆ บ้าง
3. หาทางระบายออกโดยเลือกผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน
4. ออกกำลังกายและพักผ่อน
5. ฝึกวิชาผ่อนคลายตนเอง เช่น ฝึกสติและสมาธิ ฝึกโยคะ
ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น กำหนดลมหายใจ เข้า-ออก
6. หันหาวิธีการที่ทำให้สงบ อาจจะใช้ศาสนามาช่วยขัดเกลา
จิตใจเพื่อปล่อยวาง
ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปได้เอง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง หรือละความสนใจในเรื่องอื่นบ้าง หากมีอาการทั้งหมดเกินกว่า 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา หรือจิตแพทย์
- คลินิกคลายเครียด ในสถานบริการสุขภาพจิตทั่วประเทศ
- โทรศัพท์สายด่วน 1323 รวม 17 คู่สาย ในกรณีที่สายไม่ว่างหรือติดต่อไม่ได้ ให้ฝากข้อความได้ที่ โทรศัพท์อัตโนมัติ หมายเลข 1667 (140 คู่สาย)
ที่มาของข้อมูล : กรมสุขภาพจิต