“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ภาวะซึมเศร้าเกิดได้กับทุกคน

ภาวะซึมเศร้าเกิดได้กับทุกคน

 

ถึงเวลาที่จะต้องมาสังเกตคนรอบข้างเราแล้ว ว่ามีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รีบช่วยจัดการปัญหาก่อนจะสายเกินแก้ จะเห็นได้ว่าภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศและทุกวัย แม้ว่าจะแตกต่างกันในสาเหตุและอาการแสดง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ภาวะซึมเศร้าในเพศชาย แม้ว่าอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าในเพศชายจะน้อยกว่าเพศหญิง 2 เท่า แต่อัตราการฆ่าตัวตายในเพศชายสูงกว่าเพศหญิงโดยเฉพาะในผู้ชายสูงอายุ และพบว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคหัวใจสูงมาก อาการแสดงของภาวะซึมเศร้าไม่แน่ชัดต่อการวินิจฉัย บางคนก็มุ่งทำงานหนักเพื่อที่จะไม่คิดเรื่องอื่น ในขณะที่บางคนรู้สึกไม่มีแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย และที่สำคัญคือผู้ป่วยชายก็มักจะปฏิเสธการรักษาภาวะซึมเศร้า เพราะคิดว่าตนไม่ผิดปกติ ไม่อ่อนแอแต่อย่างใด ร้ายแรงที่สุดเพศชายที่มีภาวะซึมเศร้าส่วนมากจะหาทางออกด้วยการใช้ยาเสพติดและสุราและเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

ภาวะซึมเศร้าในเพศหญิง อัตราของภาวะซึมเศร้าในเพศหญิงเกิดมากกว่าเพศชาย พบบ่อยมาก เนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง ที่เด่นที่สุดคือด้านสรีระวิทยาฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะในช่วงก่อนมีประจำเดือน ช่วงมีประจำเดือน หรือในช่วงวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว และปัจจัยทางพันธุกรรมและการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างมากระตุ้น อ่อนไหวง่าย มีความเปราะบางหรือมีปมด้อยบางอย่างอยู่ก็จะยิ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้อย่างง่ายดาย อาการแสดงในเพศหญิง เช่น มักเป็นความรู้สึกผิด ร้องไห้ อยากอยู่คนเดียว รับประทานอาหารมากเกินไป เป็นต้น

 

ภาวะซึมเศร้าในวัยเด็กและวัยรุ่น ในเด็กเล็กสาเหตุของภาวะซึมเศร้า ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวหรือเพื่อนที่โรงเรียน เรื่มต้นอาการแสดง เช่น จะไม่มีสมาธิ เรียนไม่รู้เรื่อง อารมณ์เสียกับเรื่องเล็ก ๆน้อยๆ แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่ร่าเริง และดูเหมือนหมดเรี่ยวแรง มีอาการภาวะซึมเศร้าอย่างชัดแจน เช่น เฉื่อยชา พูดและทำอะไรช้า เบื่ออาหาร ขาดความมั่นใจ  อย่างไรก็ตามในเด็กเล็กพบว่าความคิดและการพยายามฆ่าตัวตายจะน้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กโตหรือวัยรุ่น ขณะที่วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าบางคนมีอาการเศร้า บางคนอาจไม่มีอาการนี้ แต่มีอาการโมโหง่ายแทน และมักเป็นอาการที่เด่นชัดในวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ปัญหาในโรงเรียนหรือที่บ้าน ปัญหายาเสพติด การใช้ความรุนแรงในครอบครัวและการฆ่าตัวตาย

 

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากการเสียใจจากการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่มีอิสระ ปัญหาด้านสุขภาพ ความเหงา อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและปัญหาต่างๆ ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุจึงเกี่ยวข้องกับสุขภาพและอาการเจ็บป่วยโดยตรง  ส่งผลถึงอัตราการเสียชีวิตสูงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

 

 

เอกสารอ้างอิง

วาทินี สุขมาก (2556) การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตสังคม 1, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม:มหาสารคาม

 

       

 

 1078
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์