“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ดนตรีบำบัดในวัยผู้ใหญ่ ใครว่าไม่จำเป็น

ดนตรีบำบัดในวัยผู้ใหญ่ ใครว่าไม่จำเป็น

            ทุกวันนี้ยังเปิดเพลงฟังกันอยู่ไหม คุณยังร้องเพลงเก่าๆได้อีกหรือเปล่า เคยไหมที่จะเปิดเพลงฟังขณะรถติด หรือเปิดเพลงคลอไปขณะทำงาน วัยผู้ใหญ่เป็นช่วงวัยที่อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่ มักจะพบปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน ความขัดแย้งทางความคิด ชีวิตครอบครัว หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่สำหรับสำหรับวัยผู้ใหญ่ตอนปลายหรือผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60  ปีขึ้นไปนั้น ความเครียดมักเกิดขึ้นจากความกังวลใจ เรื่องความเจ็บไข้ หรือความวิตก ความเป็นห่วงเป็นใยต่อบุตรหลาน อาจพบอาการซึมเศร้า เก็บตัว อีกทางหนึ่งคือความเป็นไปได้ในการเกิดอาการหลงลืม อาการย้ำคิดย้ำทำ หรือพูดซ้ำซาก ขี้บ่น บางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ร่วมด้วยก็เป็นได้

ด้วยปัญหาเหล่านี้ทางสุขภาพจิต ทางด้านอารมณ์เช่นนี้ ทำให้นักดนตรีบำบัดได้จัดทำข้อเสนอแนะให้จัดกิจกรรมดนตรีบำบัดขึ้นเพื่อคลายทุกข์ คลายเครียดให้กับผู้ใหญ่ ทั้งที่เป็นวัยทำงานและวัยสูงอายุด้วย  ได้แก่

  1. กิจกรรมการฟังเพลงในอดีต ที่มีวัตถุประสงค์ให้เตือนความทรงจำของผู้ที่มีอาการหลงลืม ซึ่งอาจทำให้สามารถระลึกถึงเนื้อร้องและทำนองอันเป็นที่โปรดปรานในอดีตได้ เป็นการเรียกความทรงจำกลับมา แม้ว่าอาจจะเป็นแค่ระยะสั้นหรือระยะยาวก็ทำให้ผู้ใหญ่มีความสุขได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยการรักษาร่วมกันกับยาภายใต้การกำกับดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  
  2. กิจกรรมการฟังเพลงบรรเลง ซึ่งเพลงบรรเลงที่มีจังหวะช้าๆสม่ำเสมอต่อเนื่อง นั้นจะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ เคยมีการศึกษาว่าเมื่อฟังเพลงบรรเลง เพลงคลาสิก หรือเสียงเปียโน จะทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดลดลง เมื่อนำไปใช้ควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์ พบว่าทำให้อาการเจ็บปวดลดน้อยลง และทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น

ดังนั้น ใครที่มักจะเครียดแต่เรื่องงาน อยู่ที่ทำงานก็เครียด กลับมาถึงบ้านแล้วก็ยังเครียด ควรหาเวลาดูแลอารมณ์และจัดการความเครียดของตัวเองให้ดี หาเวลาว่างๆสัก 10-15 นาที เปิดเพลงฟังไม่ว่าจะเป็นเพลงไทย เพลงสากล หรือเพลงที่ชอบส่วนตัว  ปล่อยวางเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นให้ได้ หรืออาจใช้วิธีเปิดเพลงคลอเบาๆ กล่อมให้นอนหลับสบายตลอดคืนก็ยังได้

 

เอกสารอ้างอิง

บุษกร บิณฑสันต์ (2553) ดนตรีบำบัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:กรุงเทพฯ

Vink, A. C., Bruinsma, M. S., & Scholten, R. J. (2003). Music therapy for people with dementia. The Cochrane Library.

Center, E. I., Center, C. R., & Center, P. F. (2005). Music therapy.

 2458
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์