“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

เช็คด่วน คุณกำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวลหรือไม่

เช็คด่วน คุณกำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวลหรือไม่

 

        เชื่อว่าหลายคนก็ต้องมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย แล้วภาวะวิตกกังวลนอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของเราแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงบุคคลรอบข้าง สังคมรอบตัวเราด้วย

 

        ตามทฤษฎีภาวะวิตกกังวลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามความรุนแรง แบบที่ 1 ภาวะวิตกกังวลแบบปกติ เป็นภาวะวิตกกังวลที่เกิดขึ้นสมเหตุสมผลกับสิ่งที่มากระตุ้นและเกิดขึ้นไม่นาน เมื่อปัญหาหรือตัวกระตุ้นลดลงความวิตกกังวลจะลดลงด้วย แบบที่ 2 ภาวะวิตกกังวลแบบโรคประสาท  เป็นภาวะวิตกกังวลที่เกิดขึ้นไม่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่มากระตุ้น มักเกิดมาจากความขัดแย้งในจิตไร้สำนึกไม่มีสิ่งคุกคามจากภายนอก คนส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุของต้นตอ และแบบสุดท้าย ภาวะวิตกกังวลแบบมีพยาธิสภาพ เป็นภาวะวิตกกังวลระดับรุนแรงที่สุด และมีลักษณะเรื้อรัง มักเกิดจากการเก็บกดหรือข้อขัดแย้งที่ตนเองไม่ยอมรับมาตั้งแต่อดีต หากเป็นถึงขั้นนี้คงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป

 

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเราหรือคนรอบข้างมีภาวะวิตกกังวล? อาศัยการสังเกตดังต่อไปนี้

- มีการแสดงออกด้านการเคลื่อนไหว เป็นการปลดปล่อยพลังงานของร่างกายออกมาโดยตรง เช่น กระวนกระวาย อาการสั่น เป็นต้น

- มีการแสดงออกด้านร่างกาย จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น อัตราการเต้นของชีพจรเพิ่มขึ้น เส้นเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบทางเดินหายใจ เช่น การหายใจเร็วขึ้น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาจมีอาการหอบ ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น กล้ามเนื้อเกร็ง และตึงตัว ปวดเข่าและข้อ มือสั่น  ระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ระบบขับถ่าย เช่น ปัสสาวะบ่อย เหงื่อออกตามฝ่ามือฝ่าเท้า และระบบอื่นๆ เช่น ปากแห้ง ผิวหนังซีด ควบคุมการทรงตัว และการเคลื่อนไหวไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือน สมรรถภาพทางเพศลดลง เหนื่อยง่าย เป็นต้น

- มีการแสดงออกด้านอารมณ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิด โกรธง่าย กระสับกระส่าย

- มีการแสดงออกด้านความคิด ความรู้สึก การรับรู้ และการแสดงออกทางสังคม เช่น มีความหวาดระแวง สงสัย คิดช้า ความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลลดลง คิดอะไรไม่ออก ขาดความคิดริเริ่ม มองโลกในแง่ร้าย ความสามารถแก้ปัญหาลดลง การตัดสินใจไม่ดี หมกมุ่นกับความคิดวิตกกังวลสับสน มีการรับรู้ช้า ไม่สนใจสภาพแวดล้อม มีการแยกตัว ก้าวร้าว ความสามารถในการทำงาน ความรับผิดชอบในหน้าที่การงานลดลง หรืออาจมีการใช้สารเสพติด

 

        หากรู้สึกว่าตนเองหรือพบเจอบุคคลรอบข้างที่เริ่มมีอาการเหล่านี้ ลองหาเวลานั่งคุยปรึกษาเรื่องที่กำลังวิตกกังวลอยู่ อาจทำให้คลายปัญหาไปได้ อย่าปล่อยไว้นานจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ

 

 

เอกสารอ้างอิง

วาทินี สุขมาก (2556) การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตสังคม 1, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม:มหาสารคาม

 

 1106
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์