“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ยิ่งสูง(วัย) ยิ่งเหงา

ยิ่งสูง(วัย) ยิ่งเหงา

 

         ความเหงาเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่หรือว่าจะผู้สูงอายุต่างก็มีความเหงาด้วยกันทั้งนั้น ความเหงาหรือความรู้สึกว่าตัวเองถูกแยกออกจากสังคมรอบข้างไม่ได้มีผลกับจิตใจเท่านั้นแต่ส่งผลไปถึงสุขภาพและร่างกายด้วย การศึกษาเชิงทฤษฎีชี้ให้เห็นว่าความเหงามีผลสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงมีความเสี่ยงต่อภาวะโรคหัวใจสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย ความเหงามีผลต่อการเข้าโรงพยาบาลในภาวะฉุกเฉินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

         การศึกษาผลของความเหงาต่อปัญหาสุขภาพของสมาชิกภายในครอบครัวของ Chris Segrin และคณะจากมหาวิทยาลัยแอริโซน่าที่ศึกษาในประชากร 456 คน จาก 169 ครอบครัว บอกกับเราว่าในกลุ่มวัยพ่อแม่-ปูย่าตายาย ความเหงาที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอาการผิดปกติของร่างกายที่เพิ่มขึ้นด้วย พอเหงามากขึ้นภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้เข้าร่วมการศึกษาก็ลดลง แรงสนับสนุนจากผู้คนรอบข้างเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเหงาได้ไม่ว่าในวัยไหน ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ แรงสนับสนุนที่มีผลต่อพวกเขามากมักมาจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งต่างจากกลุ่มผู้สูงวัยที่แรงสนับสนุนจากกลุ่มญาติ ลูก หลานจะมีประสิทธิภาพมากกว่าจากกลุ่มเพื่อนๆ ในกลุ่มผู้สูงวัย ความช่วยเหลือจากคนต่างวัยมีแนวโน้มว่าจะมีประโยชน์ทางจิตใจมากที่สุดเนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีข้อจำกัดมากขึ้นและมีความคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือต่างๆ

 

         ความเหงาส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงวัย การอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวมีผลช่วยลดความเหงาในผู้สูงวัยได้ ยิ่งลูกหลานมาก ความเหงาก็ยิ่งลดลง การเอาใจใส่ การดูแลจากลูกหลานมีความสำคัญต่อคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายมากกว่าที่คุณคิดนะคะ

        

เอกสารอ้างอิง

Chris Segrin, Tricia J. Burke and Michelle Dunivan. (2012). Loneliness and poor health within families. Journal of Social and Personal Relationships, 29(5), 597–611.

 1514
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์