“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

วิจัยชี้ คิดดี ทำดี หัวใจดี

วิจัยชี้ คิดดี ทำดี หัวใจดี

 

              ร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกัน หากร่างกายของเราไม่สบายก็พลอยทำให้จิตใจของเราหม่นหมองไปด้วย และเช่นเดียวกัน หากจิตใจของเราติดลบ มีความเครียด โกรธหรือเศร้า ร่างกายของเราก็ติดลบไปด้วย ความเครียดมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและกระบวนการเกิดการอักเสบ ซึ่งนำไปสู่โรคซึมเศร้า โรคทางภูมิคุ้มกัน โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคมะเร็งบางชนิด เนื่องจากความเครียดมีผลกระตุ้นการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนความเครียดที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งมีผลต่อกระบวนการต้านการอักเสบ การเผาผลาญสารอาหารต่างๆเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย และความเครียดมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนอื่นๆอีกมาก ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยได้

              สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการศึกษาพบว่าความเครียดมีผลต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การกระตุ้นกระบวนการอักเสบและการแข็งตัวของเลือด จากวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยจำนวน 14 เรื่อง เกี่ยวกับภาวะเครียดจากการทำงานต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ(Coronary Heart Disease)ในคนวัยทำงานกว่า 80,000 คน พบว่าผู้ที่มีความเครียดจากการทำงานสูงมีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50

              ไม่ใช่เพียงอารมณ์ด้านลบเท่านั้นที่มีผลต่อร่างกาย แต่อารมณ์ด้านบวกอย่างภาวะมีความสุข ความรักและความสนุกสนาน ก็ส่งผลต่อร่างกายเช่นกัน เนื่องจากมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่ช่วยลดความเจ็บปวด การศึกษาจำนวนมากพบความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ด้านบวกที่เพิ่มขึ้นกับอัตราการตายในผู้สูงวัยที่ลดลง เนื่องจากมีส่วนช่วยบรรเทาการบาดเจ็บและการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง งานวิจัยของ Nancy L. Sin นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Penn State ได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่า 1,000 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า ผู้ป่วยที่มีอารมณ์ด้านบวก มีการสูบบุหรี่ลดลง มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น มีการนอนหลับที่ดีขึ้นและมีพฤติกรรมการรับประทานยารักษาที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอาการแสดงที่เกิดจากโรคหัวใจรวมถึงช่วยลดอัตราการตายได้

 

เมื่อทราบข้อดีของการคิดบวก มีอารมณ์ด้านบวกเช่นนี้แล้วอย่าละเลยที่จะทำให้คนใกล้ตัว

คนรอบข้างและตัวเองมีความสุข คิดบวกเพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงกันนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

Cohen S, Janicki-Deverts D, Miller GE. Psychological Stress and Disease. JAMA. 2007;298(14):1685–1687.

Nancy L. Sin, Judith Tedlie Moskowitz, Mary A. Whooley. (2015). Positive Affect and Health Behaviors Across 5 Years in Patients with Coronary Heart Disease: The Heart and Soul Study. MD Psychosomatic Medicine. 77(9):1058–1066

Pressman, S. D., & Cohen, S. (2005). Does positive affect influence health? Psychological Bulletin, 131(6), 925-971.

 

 554
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์