“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

สงบจิต สงบใจ ด้วยภาวนาฝ่ามือ

สงบจิต สงบใจ ด้วยภาวนาฝ่ามือ

 

 

เคยไหม ที่ทะเลาะกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว เครียดจากการทำงานจนหาทางระบายไม่ได้ ไม่รู้จะแก้ปัญหานั้นอย่างไร เทคนิคง่ายในบทความนี้จะใช้เวลาเพียงสั้นๆ ทำได้ง่ายทุกที่ ทุกเวลา และจะเปลี่ยนอารมณ์ร้อนเป็นอารมณ์เย็นได้แน่นอน เทคนิคที่กล่าวถึงก็คือ การภาวนาฝ่ามือ แต่ถ้ายังรู้สึกไม่ดีขึ้นเท่าไร ให้ทำต่อด้วยเทคนิคลมหายใจเย็น มาดูกันว่าขั้นตอนการฝึกเป็นอย่างไร

 

ขั้นตอนการภาวนาฝ่ามือ

  1. นั่งเท้าศอกบนโต๊ะ ใช้อุ้งมือครอบดวงตาไว้ แต่ไม่ต้องออกแรงกด แค่สัมผัสเบาๆ อย่างอ่อนโยน
  2. ปล่อยตัวตามสบายไม่ต้องเกร็งไหล่ ปล่อยจิตให้ดิ่งลงไปในความมืดอย่างสงบ
  3. นั่งเงียบๆสักครู่ รับรู้ถึงความอุ่นจากฝ่ามือที่ไหลผ่านเข้าสู่ดวงตา ให้ความอุ่นนั้นเป็นเสมือนพลังแห่งชีวิต  พลังแห่งความเฉลียวฉลาด และการมองเห็นที่กระจ่างใส ซึ่งจะแผ่ผ่านฝ่ามือถ่ายทอดไปสู่นัยน์ตา จงย้ำกับตัวเองว่า บ่ายนี้คุณจะมองเห็นและตัดสินใจทุกเรื่องอย่างแจ่มชัดตามความเป็นจริง
  4. ให้คุณสร้างมโนภาพว่าคุณมีดวงตาที่สามอยู่กลางหน้าผาก รู้สึกถึงพลังที่แผ่ออกมาจากตาที่สาม ให้ย้ำกับตัวเองว่า คุณจะใช้จิตหยั่งรู้เรื่องราวต่างๆ ตลอดบ่ายนี้ และคุณจะตัดสินใจได้ถูกต้อง
  5. พักผ่อนเงียบๆ อย่างนี้ต่อไป นานเท่าที่จะทำได้
  6. ตื่นคืนสู่ปัจจุบัน  วางเท้าลงกับพื้น  เตือนตนเองว่า คุณได้กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงแล้ว

 

ขั้นตอนการทำลมหายใจเย็น

  1. นั่งในท่าสบายๆ วางมือแต่ละข้างบนเข่า หลับตาลง และกำหนดจิตไว้ที่จังหวะลมหายใจ
  2. ห่อลิ้นให้เป็นวง ปลายลิ้นพ้นออกมานอกปากเล็กน้อย หากทำไม่ได้ ให้ใช้วิธีอ้าปากเล็กน้อย เพื่อให้อากาศผ่านเข้าไปได้
  3. หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ผ่านทางช่องลมกลางม้วนลิ้น คุณจะรู้สึกถึงลมเย็นที่เคลื่อนผ่านลิ้นเข้าไป
  4. หายใจออกช้าๆ ลึกๆ ทำเช่นนี้ต่ออีก 2–3 นาที หรือนานเท่าที่ยังรู้สึกสบาย คุณจะรู้สึกว่ากระแสความเย็นแผ่ลงไปตามแนวกระดูกสันหลัง และแผ่ออกจนทั่วร่างกายคุณ
  5. กลับสู่การหายใจปกติ กำหนดจิตที่ลมหายใจ และรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวไปพร้อมกัน
  6. หลบตามองพื้น แล้วค่อยๆลืมตาขึ้น เพ่งจิตรับรู้ความรู้สึกของคุณเอง นั่งนิ่งๆต่อสักครู่ สังเกตว่าพลังในกายคุณเปลี่ยนแปลงอย่างไร

 

ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะดีขึ้น และพร้อมกลับมาเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆให้จงได้

 

 

เอกสารอ้างอิง

อเล็กซานเดอร์ เจน (2549)  “แค่ 5 นาที เพื่อสุขภาพดีตลอดวัน”, ซีเอ็ดยูเคชั่น, กรุงเทพฯ หน้า 94-95

 

 871
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์