“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

นอนอย่างไร ให้หัวใจได้พักผ่อนเต็มที่

นอนอย่างไร ให้หัวใจได้พักผ่อนเต็มที่

 

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยนอนไม่หลับ นอนหลับยาก กว่าจะนอนได้ใช้เวลากันอยู่เป็นชั่วโมง แม้จะนอนหลับไปแล้วก็สะดุ้งตื่น บ้างก็มาจากเสียงรบกวน บ้างก็มาจากละเมอ ฝันร้าย ซึ่งการที่ร่างกายนอนหลับไม่สนิทจะทำให้สมองและหัวใจไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ตื่นมาตอนเช้าอาจจะรู้สึกเพลีย ไม่สดชื่น และที่สำคัญการนอนหลับไม่สนิทเป็นระยะเวลานานเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคเครียด โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเรื้อรังต่างๆตามมา การนอนหลับสนิทไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากการจัดการกับห้องนอน การผ่อนคลายก่อนนอน และท่านอน ดังนี้

 

จัดห้องให้เป็นระเบียบ สะอาดเรียบร้อย แสงไฟไม่ควรสว่างเกินไป ไม่มีเสียงดังรบกวน และปรับเครื่องปรับอากาศให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ตัว หรือเปิดทีวี คอมพิวเตอร์ขณะนอนหลับ เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอุปกรณ์เหล่านั้น จะขัดขวางการหลั่งสารเมลาโทนิน รบกวนกระบวนคลื่นสมองและคลื่นหัวใจ รบกวนการนอนหลับ ทำให้หลับไม่สนิทได้

 

เพิ่มกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น อาบน้ำ แช่น้ำอุ่นกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต คลายความปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ สวมชุดนอนเนื้อผ้าสบายไม่ระคายผิว นั่งสมาธิ ฟังเพลงพักผ่อนอารมณ์ เล่นโยคะ ยืดกล้ามเนื้อ อ่านหนังสือและกิจกรรมที่ชอบเหล่านี้ควรทำเป็นกิจวัตรทุกคืน เพื่อให้สมองเคยชินว่าคือกิจกรรมก่อนการนอน เมื่อทำแล้วจะรู้สึกง่วงนอนเร็วขึ้น ทำให้หลับง่ายขึ้น

 

ปรับท่านอนที่เหมาะสม จะช่วยให้นอนหลับสบายและทำให้หลับสนิทมากขึ้น จึงส่งผลให้ร่างกาย สมอง หัวใจพักผ่อนได้เต็มที่ เป็นผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพหัวใจได้เมื่อร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อการเจ็บป่วยต่างๆ ก็ลดลง จากการศึกษาพบว่า ท่านอนตะแคงขวา เป็นท่านอนที่เหมาะสม ทำให้นอนหลับสบายที่สุด เพราะช่วยลดอาการปวดหลังและตำแหน่งของหัวใจไม่ถูกกดทับด้วยร่างกายส่วนอื่น จึงทำให้หัวใจทำงานได้สะดวก สูบฉีดโลหิตได้คล่อง ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้อาหารที่ยังย่อยไม่หมด ไม่คงค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร จึงไม่ทำให้เกิดอาการจุกเสียดที่ลิ้นปี่ขณะนอนหรืออาการกรดไหลย้อน นอกจากนี้ ท่านอนตะแคงขวายังช่วยลดอาการนอนกรน จากความผิดปกติของทางเดินหายใจส่วนบนได้อีกด้วย

 

 

เอกสารอ้างอิง

ชิสา สรวิสูตร (2556), นวดบำรุงหัวใจ, หนังสืออย่าปล่อยให้โรคหัวใจ คร่าชีวิตคุณและคนที่คุณรัก, MINIBEAR PUBLISHING: กรุงเทพฯ

 

 

 1951
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์