ความเครียดเรื่องงานนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหาร เพราะพนักงานชั้นผู้น้อยก็มีเรื่องมากมายให้เครียดไม่แพ้กัน เช่น ความเครียดจากการโดนเจ้านายต่อว่า การทำงานที่มีเส้นตายกำหนดจนไม่มีเวลาพักผ่อน ความเครียดนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจไปด้วย โดยเฉพาะกับพนักงานที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
จากการเก็บข้อมูลของทีมนักวิจัยจาก Australian National University ในแคนเบอร์ราเกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิตของคนทำงานจำนวน 7,000 คน ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Occupational and Environmental Medicine ระบุว่าการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำงานส่งผลต่อสภาพจิตใจมาก เช่น
- ทำงานโดยรับคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว
- งานที่ทำสลับซับซ้อน ไม่แน่นอนยุ่งเหยิงไม่เป็นระบบ เร่งรีบ
- งานที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สิน
- งานที่ได้รับผลตอบแทนน้อย
- งานที่ต้องรีบเร่งเพื่อส่งให้ทันกำหนดอยู่บ่อยครั้ง
- งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับเจ้านายหรือลูกค้าที่ใช้อารมณ์
นอกจากนั้นความเครียดที่เกิดจากการปฏิบัติภารกิจประจำวัน รถติด น้ำท่วม ภาวะอากาศแปรปรวนมาก พายุฝน ภัยธรรมชาติ ล้วนแต่สามารถทำให้เกิดความเครียดของจิตใจ ส่งผลให้เกิดอาการโรคหัวใจได้ การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนไม่หลับเป็นประจำเป็นสาเหตุหนึ่งของความเครียด เพราะสมองพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถทำให้เกิดหัวใจทำงานผิดปกติ หัวใจล้มเหลวได้
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต โฮแกน จากมหาวิทยาลัย Tulsa ยังกล่าวอีกว่า หัวหน้างานมีผลอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงาน "เจ้านายที่ไม่ดี เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้คนในหน่วยงานไม่มีความสุข เพราะเป็นตัวนำพาความเครียดมาสู่ชีวิตของคนอื่นๆได้มากที่สุด"
หัวหน้าควรรับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้ร่วมงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวและแสดงให้เห็นว่าลูกน้องทุกคนมีคุณค่าส่วนเรื่องงานก็ควรแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงานอย่างเหมาะสม อย่ากำหนดการส่งงานที่กระชั้นชิดจนเกินไป
การปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อลดความเครียดนั้น ควรเปิดกว้างให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างบุคลากรภายในองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะเสียงจากพนักงานชั้นผู้น้อย สื่อสารถึงผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ โดยต่างฝ่ายต่างใช้เหตุผลและเป้าหมายของงานเป็นที่ตั้ง ไม่ควรใช้อารมณ์ในการสื่อสาร
และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือควรมีการพิจารณาผลตอบแทนและความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน รางวัล หรืออื่นๆ รวมถึงอำนาจในการตัดสินใจให้สอดคล้องกับการทำงาน สภาพกิจการ และสภาพเศรษฐกิจอยู่เสมอ
แหล่งข้อมูล :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000036109
https://health.kapook.com/view6659.html