“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

หัวใจสลาย เมื่อหลอดเลือดหัวใจมีตะกรันตีบตัน

หัวใจสลาย เมื่อหลอดเลือดหัวใจมีตะกรันตีบตัน

 “หัวใจ” เปรียบเสมือน “ปั้มน้ำ” ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย การที่หัวใจจะทำงานเสมือนปั้มน้ำให้ดีอยู่ได้นั้น จำเป็นต้องมีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ตามปกติ ซึ่งเลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผ่านหลอดเลือดแดงขนาดกลางที่เรียกว่า “หลอดเลือดโคโรนารี” โดยปกติหลอดเลือด   โคโรนารีใหญ่จะมี 3 เส้น 2 เส้นทางซ้าย ซึ่งออกมาจากหลอดเลือดขั้วหัวใจด้านซ้ายและอีก 1 เส้นทางขวา หลอดเลือดนี้จะแบ่งเป็นหลอดเลือดแดงที่มีขนาดเล็กลง และเป็นเส้นเลือดฝอยนำไปสู่ส่วนต่างๆ ของหัวใจ

 

ทำความรู้จักกับหลอดเลือดหัวใจและการเกิดตะกรัน
หลอดเลือดแดงโคโรนารี ทำหน้าที่เหมือนท่อประปา เมื่อใช้เป็นเวลานานก็จะมีเศษผง เศษผมเกาะ เกิดเป็นตะกรัน และทำให้ท่อตีบขวางการไหลของน้ำ ถ้ามีการเกาะตัวหนาขึ้นในหลอดเลือด ก็จะเกิดความเสื่อม มักจะเกิดการสะสมของไขมันและหินปูนในผนังของหลอดเลือดเป็นก้อนคล้ายตะกรันทั่วไป แต่ในบางส่วนโดยเฉพาะส่วนตันของหลอดเลือดก็จะมีการสะสมของไขมันยื่นเข้ามาในรูของท่อหลอดเลือด ทำให้รูภายในท่อตีบ และถ้าตีบมากก็จะขวางการไหลของเลือดไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ

 

นอกจากนี้แล้ว หลอดเลือดหัวใจโคโรนารียังมีการขยายตัวและหดตัวได้ อีกทั้งก้อนไขมันที่สะสมสามารถแตกหรือฉีกออกเป็นแผลและก่อให้เกิดลิ่มเลือด ส่งผลให้เกิดการอุดตันฉับพลันทันทีได้ เมื่อหลอดเลือดโคโรนารีตีบมากขึ้นจากการสะสมของไขมันหรือเกิดการหดตัวตีบมากขึ้นเป็นระยะ ก็จะทำให้เกิดภาวะที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง และหากปริมาณเลือดที่ลดลงไม่พอต่อความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการตามปกติที่ร่างกายอยู่เฉย ไม่มีการออกกำลังกาย หรือไม่ว่าจะเป็นความต้องการเพิ่มขึ้น เมื่อร่างกายมีการออกกำลังกาย ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ซึ่งอาการจะหายไปก็ต่อเมื่อปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมีความสมดุลกับภาวะความต้องการ กล่าวคือ อาการจะดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยหยุดออกกำลัง หรือไม่ก็มีความเครียดคลายลง (หัวใจทำงานลดลง) ในบางครั้ง ก้อนไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆ เกิดการแตกออกเป็นแผล ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดทำให้ปริมาณเลือดขาดหายไป ก็จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (มีการตายของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ) ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกมากและนาน ในบางรายมีการทำงานของหัวใจผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างฉับพลันทันทีได้ หรือไม่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

เมื่อหลอดเลือดหัวใจทรุด จะซ่อมเมื่อไหร่ดี
หลอดเลือดคโรนารีที่เสื่อมมาก จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และบ่อยครั้งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจะเป็นอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อึดอัด นอนราบไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติ เช่น ไม่สามารถออกกำลังกาย เดินขึ้นลงบันได ทำสวน อาบน้ำได้ เพราะมีอาการแน่นหัวใจ ดังนั้น จะต้องถึงเวลาซ่อมก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเฉพาะเมื่อได้รับการรักษาทางยาแล้ว อาการที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น หรือยังมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน และจะซ่อมก็เพราะว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง อันเกิดจากภาวะหลอดเลือดตีบหรือตันมาก จนมีการบีบตัวที่ลดลงหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว

 

วิธีการซ่อมแซมหัวใจขาดเลือด ทำได้อย่างไร
นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว จะมีการรักษาที่เปรียบเสมือนการซ่อมหลอดเลือดโคโรนารีอยู่ 2 วิธีการ โดยมีหลักสำคัญคือ เพื่อเพิ่มเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจให้พอเพียงกับความต้องการ ซึ่งการรักษา 2 วิธีทางคือ การขยายหลอดเลือด และการทำผ่าตัดต่อทางเบี่ยงหลอดเลือด ซึ่งก่อนจะเลือกวิธีการใดนั้น จำเป็นต้องรู้ลักษณะของหลอดเลือดโคโรนารีของผู้ป่วยแต่ละราย ก่อนเริ่มต้นการสวนหัวใจและฉีดสีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ


การสวนหัวใจและการฉีดสีเข้าหลอดเลือดโคโรนารีเป็นการวินิจฉัยโรคอีกวิธีหนึ่ง ที่เอื้อประโยชน์หลายอย่างต่อการดูแลรักษา วิธีนี้อาศัยการสอดใส่ท่อสายยาง พลาสติกที่ปราศจากเชื้อเข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบหรือที่แขน ย้อนเข้าไปสู่หัวใจ (เรียกว่าการสวนหัวใจ เพราะสวนทางเดินของเลือดกลับไปสู่หัวใจ) และไปจ่ออยู่ตรงทางออกของหลอดเลือดโคโรนารี จากนั้นจะทำการฉีดสีผ่านท่อสายยางพร้อมกับการถ่ายรูปของหลอดเลือดโคโรนารีและหัวใจ โดยใช้กล้องเอ็กซเรย์พิเศษในห้องปฏิบัติการเฉพาะที่เรียกว่าห้องสวนหัวใจ หรือห้อง CATH LAB (แคทแล็บ) การวินิจฉัยวิธีนี้เอื้อประโยชน์มากกว่าโทษที่จะเกิดขึ้น และในปัจจุบันนี้มีการทำหัตถการสวนหัวใจ และฉีดสีอยู่เป็นประจำอยู่ในประเทศไทย และในแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยนี้มากกว่า 25,000 รายต่อปี ซึ่งมีผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 0.5 ที่อาจจะเกิดโทษ (น้อยกว่า 5 คนจากผู้ป่วย 1000 คน) และการวินิจฉัยวิธีนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องค้างคืนอยู่โรงพยาบาล และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเกินไปนัก

 

ข้อมูลทีได้จากการฉีดสีคือ ลักษณะการตีบตัน ตำแหน่ง จำนวนของหลอดเลือดที่มีปัญหา ลักษณะหลอดเลือดส่วนปลาย การทำงานบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ข้อมูลเหล่านี้แพทย์ต้องการเพื่อใช้ในการเลือกวิถีทางการรักษา ว่าจะเป็นการรักษาทางยาต่อ หรือ จะใช้การขยายหลอดเลือด หรือจะต้องทำผ่าตัดต่อทางเบี่ยงหลอดเลือด

 

ที่มา: รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล             

 

 4705
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์