“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ใจสั่น  หวั่นไหว  ไม่มั่นใจ  ไปพบแพทย์

ใจสั่น  หวั่นไหว  ไม่มั่นใจ  ไปพบแพทย์

 
    ใจสั่นเป็นครั้งคราว เป็นบ่อยหรือเป็นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความรำคาญ บางคนเกิดร่วมกับอาการเป็นลม หน้ามืด หมดสติ หอบเหนื่อยและโชคร้ายอาจเสียชีวิตได้
    

อาการใจสั่น เป็นเช่นไร!!!.....?

 

    1. ใจเต้นสะดุด เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด เป็นภาวะที่หัวใจห้องซ้ายล่างเต้นแทรกมาเป็นระยะๆ (Premature Ventricular Contraction (PVC)) ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย มักเกิดเวลาที่อยู่นิ่งๆ 

    2. ใจเต้นเร็วติดต่อตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ คล้ายเวลาที่ออกกำลังกายหนัก หรือเหนื่อยมากๆ ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วมีอาการใจสั่น ก็จะถือว่าเป็นความผิดปกติ ถ้ามีอาการควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

    3. ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เรียกว่า “แบบสั่นพลิ้ว” ช่วงที่มีอาการจะมีปัสสาวะบ่อย มักจะเป็นใจสั่นชนิดAF (Atrial Fibrillation) ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วนๆก่อนจะเกิดหัวใจล้มเหลวหรือ อัมพฤกษ์อัมพาตได้

    4. ใจเต้นช้ามาก และมีอาการหน้ามืดเป็นลมจะพบในคนปกติ ที่มีอาการตกใจ หรือมีอาการเจ็บปวดที่รุนแรง เช่น ปวดแผล เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบใน สอวอ หรือผู้สูงวัยหรือคนแก่นั่นเอง  มักจะเกิดจากความเสื่อมของตัวกำหนดจังหวะการเต้นของหัวใจ ควรจะพบแพทย์ด่วนๆเพื่อพิจารณาการรักษาต่อไป

 

ใจสั่น...เกิดจากอะไร ??

 

1.    ไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ อาจจะเกิดจากความเครียด วิตกกังวล หรืออาจจะเกิดจากมีทางเดินไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ

2.    โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากความเสื่อมของตัวกำหนดจังหวะการเต้นของหัวใจ

3.     สาเหตุอื่นๆ เช่น ผลจากยาโรคหัวใจบางตัวที่รับประทาน ภาวะเกลือแร่ต่ำ ไทรอยด์เป็นพิษ 

    

ใจสั่น...จะรักษายังไงดี?? ก็รักษาตามสาเหตุนะซิ

 

    1. ไฟฟ้าหัวใจผิดปกติในกรณีเต้นเร็ว อาจจะพิจารณารักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ถ้าในกรณีที่เต้นช้า อาจจะพิจารณาใส่กล่องกระตุ้นหัวใจ บางรายอาจจะต้องใช้ยาควบคุมการเต้นหัวใจร่วมด้วย

    2. โรคหัวใจ ต้องทำการรักษาโรคหัวใจที่เป็นสาเหตุ เช่น ทำการขยายลิ้นหัวใจตีบ การทำบอลลูน หรือผ่าตัดบายพาส เปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นต้น

    3. ยา ให้หยุดยาตัวที่เป็นสาเหตุ ถ้าภาวะเกลือแร่ต่ำ ก็มีการให้สารทดแทนไทรอยด์เป็นพิษก็ให้ยาต้านไทรอยด์

สั้นๆใจสั่นบ่อยๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ให้สายเกินแก้ ชวนพ่อแม่ไปพบหมอหัวใจ สบายใจ ปลอดภัย หายป่วย

 

ด้วยความปรารถนาดี

นพ.เกรียงไกร  เฮงรัศมี
หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก

 2539
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์