“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

เทคนิคเลือกยารักษาความดันโลหิต

เทคนิคเลือกยารักษาความดันโลหิต

    หนึ่งในความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบคือโรคความดันโลหิตสูง  โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะไขมันชนิดเลวหรือ LDL ร่วมอยู่ด้วย 

   คอลัมน์ “ไขปัญหาโรคหัวใจ” โดย พ.ต.อ.นพ.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักกังวลเรื่องยา ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์มักไม่ชี้ชัดว่าต้องใช้ยากลุ่มใด  เพียงแต่คุมความดันเลือดให้อยู่ในระดับเป้าหมาย คือต่ำกว่า 140/90 mmHg ซึ่งอาจต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิดก็ได้

    แนวทางการเลือกยานั้น แพทย์มักจะพิจารณาจากประวัติการเป็นโรคของผู้ป่วย เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคไตอยู่หรือไม่หลังจากเลือกยาแล้ว ผู้ป่วยแต่ละคนก็อาจมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป  ส่วนใหญ่ที่พบเช่น ไอ ขาบวม หอบ เวียนศีรษะ ดังนั้นยาที่ผู้ป่วยควรใช้ในระยะยาวคือยาที่กินแล้วไม่มีผลข้างเคียง หรือมีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ

   ตัวอย่างเช่นถ้าผู้ป่วยเคยหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ก็อาจใช้ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ACE inhibitorsหรือ ARB ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาโรคไต ก็ควรเลือกใช้ยากลุ่ม ACE inhibitorsหรือ ARB ถ้าผู้ป่วยมีโรคหอบหืดหรือถุงลมโป่งพอง ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ถ้ามีโรคเบาหวานหรือเกาต์ ก็หลีกเลี่ยงยากลุ่ม Thiazide เป็นต้น

   นอกจากเลือกยาที่ไม่มีผลข้างเคียงแล้ว ก็ควรเลือกยาที่กินง่าย เช่นกินเพียงวันละครั้ง หรือเป็นยาผสมหลายตัวในเม็ดเดียว  ช่วยให้ผู้ป่วยกินยาจำนวนเม็ดน้อยลงและกินยาได้ครบถ้วนถูกต้องขึ้น 

   สุดท้ายถ้าเคยกินยาตัวไหนมาแล้วได้ผลในการควบคุมระดับความดันเลือดได้ดี และไม่มีผลข้างเคียง  ก็ไม่ควรเปลี่ยนชนิดยา และพยายามหลีกเลี่ยงยารักษาโรคอื่นๆ ที่มีผลทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น เช่นยาแก้อักเสบ (NSAIDs) เป็นต้น


แหล่งข้อมูล : 

คอลัมน์ “ไขปัญหาโรคหัวใจ” โดย พ.ต.อ.นพ.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.ตำรวจ จาก สารหัวใจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 โดยมูลนิธิหัวใจ ในพระราชูปถัมภ์

คอลัมน์ “ไขปัญหาโรคหัวใจ” จาก สารหัวใจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 6 โดยมูลนิธิหัวใจ ในพระราชูปถัมภ์

 1509
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์