โภชนบำบัดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยอาหารรักษ์หัวใจ
ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
อาจารย์ประจำ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จะเห็นได้ว่าปัญหาจากฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มความวิตกกังวลด้านสุขภาพให้กับคนเมืองกรุงเทพมากขึ้นเรื่อยๆ คนเมืองต่างเฝ้าสังเกตดูสีที่ปรากฎในแต่ละวันแล้วลุ้นว่าจะเห็นเป็นสีเขียวสีฟ้า เพราะส่วนใหญ่ที่เห็นจะมีแต่สีเหลือง สีส้ม และก็มีสีแดง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพที่จะตาม ข้อมูลจาก Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง และส่งผลให้เกิดโรคฉับพลันและเรื้อรังตามมาได้เช่น โรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มผู้ที่ต้องระวังอย่างมากคือกลุ่มของเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สัมผัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 หรือเล็กกว่านั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ เพราะยิ่งขนาดเล็กเท่าไหร่ก็ยิ่งจะเข้าสู่ร่างกายและยิดตึดเข้าในปอดมากขึ้นเท่านั้นโดยกระบวนการคือฝุ่นละอองขนาดเล็กจะเร่งให้เกิดการอักเสบในร่างกายและลดปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระ พอสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายลดลงก็เพิ่มระดับของ Reactive Oxygen Species (ROS) ตามมาด้วยความเสื่อมของเซลล์ต่างๆโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ ส่วนปอดเมื่อได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปมากๆการทำงานของปอดก็เสื่อมลงและอาจตามมาด้วยมะเร็งปอด
ดังนั้นในภาวะเช่นนี้การได้รับอาหารที่ช่วยลดการอักเสบของร่างกายร่วมกับการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่มีปริมาณที่สูงขึ้นก็จะเป็นตัวช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับเอาฝุ่นละออง PM 2.5 หรือการอยู่ในมลภาวะที่ไม่ดีได้
โภชนบำบัดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยอาหารรักษ์หัวใจ
และด้วยภาวะของมลภาวะทีเป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลทางจิตใจเพิ่มสูงขึ้นแนะนำให้เพิ่มอาหารกลุ่มลดความเครียดเพิ่มความสุข
จะเห็นได้ว่าอาหารที่เหมาะสมสำหรับช่วงที่มีมลภาวะทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 นี้ก็คือกลุ่มของอาหารรักษ์หัวใจที่ทางมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนให้ประชาขนคนไทยบริโภคกันอยู่ตลอดมาภายได้โครงการอาหารไทย หัวใจดี ที่เกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาคโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมีตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” แสดงว่า อาหารมีชนิดของกรดไขมันในสัดส่วนที่เหมาะสม หรือ เกลือไม่มากหรือปริมาณน้ำตาลไม่มาก หรือ มีใยอาหารสูง เมื่อบริโภคในปริมาณที่ให้พลังงานเหมาะสม จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ”