ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีนโยบายมุ่งหมายจะเป็นครัวของโลก ทุกช่วงของห่วงโซ่อาหาร เริ่มตั้งแต่การผลิตในภาคการเกษตร สู่กระบวนการแปรรูป การขนส่ง การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย มีความสำคัญในทุกกระบวนการผลิต จากเรือกสวนไร่นาจนส่งถึงมือผู้บริโภคตามหลักการ From Farm to Table
ปัจจุบันจะเห็นว่าพืชผักผลไม้ในบ้านเรานั้น ยังมีสารพิษตกค้างสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับตัวเลขการนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ละปีจะมีตัวเลขการนำเข้าหลายพันล้านบาท หรือมีปริมาณกว่า 5 ล้านตัน เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงสาธารณสุข เก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจากทั่วประเทศ ตรวจหาสารพิษตกค้างตามโครงการตรวจสอบเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 พบผ่านมาตรฐานร้อยละ 88.8 ไม่ผ่านร้อยละ 11.2 เผยสารพิษตกค้างสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า ส้ม มะเขือ มะเขือเทศ
ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เริ่มจากการกินอาหารที่ผ่านกระบวนการและกรรมวิธีปรุงน้อยลง การเลือกซื้อผัก-ผลไม้ที่มีกรรมวิธีการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไร้สารเคมี อย่างไรก็ตามในชีวิตจริงยังต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สะท้อนว่านโยบายเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิตต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจัง
หนทางง่ายที่สุดในการป้องกันและต่อต้านชีวิตจากสารพิษตกค้างในผักผลไม้ และเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดก็คือ การเลือกบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก เพื่อหลีกให้ไกลสารเคมีตัวร้าย และช่วยสนับสนุนเกษตรกรสายอินทรีย์ให้เติบโต คำแนะนำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ การเลือกบริโภคพืชผักที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์
จากแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564) การเริ่มระบบเกษตรอินทรีย์นั้นทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเกษตรกรในท้องถิ่น อาทิ การปลูกพืชหมุนเวียน หรือการเลือกใช้ปุ๋ยพืชสดแทนสารเคมี หากทำได้ตามที่ระบุในแผนฯ ภายใน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะสามารถเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศได้มากขึ้นประมาณ 2.4 เท่า และเกษตรอินทรีย์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรไปได้ปีละหลายพันล้านบาทอีกด้วย
อ้างอิง: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงสาธารณสุข