“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ขึ้นฉ่าย เมนูรักษ์หัวใจ

ขึ้นฉ่าย เมนูรักษ์หัวใจ

 

            ขึ้นฉ่ายเป็นผักที่มีกลิ่นหอมฉุน แต่บางคนก็ว่าเหม็นเขียวเกินไป บางคนก็ชอบกลิ่นของขึ้นฉ่ายเหลือเกิน จากการศึกษาวิจัยและตำราสมุนไพร ผักพื้นบ้าน  ขึ้นฉ่ายมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยบรรเทาอาการโรคต่างๆ เช่น ขึ้นฉ่ายเป็นที่มีปริมาณ โพแทสเซียมสูงมาก ว่ากันว่าโพแทสเซียมนี้เองจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และช่วยลดความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีเส้นใยอาหารสูง อาจจะสังเกตได้จากเวลาเราเคี้ยวขึ้นฉ่ายต้นใหญ่ หรือต้นแก่ๆ จะรู้สึกว่าเคี้ยวไม่ละเอียด ยังคงหลงเหลือกากใยอยู่  ขึ้นฉ่ายเป็นผักที่สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสด ดิบๆ และแบบปรุงสุก นำมาเป็นส่วนผสมของอาหารคาวชนิดต่างๆ หลักๆจะอยู่ในอาหารไทย-จีน เช่น ข้าวต้มเครื่องต่าง ๆ แกงจืด ต้มเลือดหมู เป็นต้น หรือหากใครที่ชอบรับประทานสด หลังจากล้างน้ำสะอาดแล้ว ใช้เป็นเครื่องเคียงกินกับน้ำพริก หรือนำมาปั่นหรือคั้นสด หรือผสมกับผักผลไม้ชนิดต่างๆ ดื่มได้  ซึ่งเชื่อกันน้ำขึ้นฉ่ายนั้นช่วยปรับการสมดุลกรด – ด่างในร่างกาย ช่วยกล่อมประสาท ทำให้นอนหลับได้ง่าย และหลับสนิทได้ และสารอาหารอื่นๆ เช่น  วิตามินซีและเบต้าแคโรทีน ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคได้ด้วย

หากใครยังนึกไม่ออกว่าจะนำขึ้นฉ่ายไปปรุงอาหารเมนูไหนดี บทความนี้ขอเสนอ  เมนูรักษ์หัวใจ  ได้แก่ เต้าหู้ผัดขึ้นฉ่าย เพื่อเป็นไอเดียให้นำไปต่อยอด เอร็ดอร่อยได้สุขภาพกับขึ้นฉ่าย

 

เต้าหู้ผัดขึ้นฉ่าย   (สำหรับ   4  คน)

เต้าหู้เหลืองชนิดอ่อน                           2          แผ่น

ขึ้นฉ่าย  4  ต้น  , เห็ดหอมสด              2          ดอก

เห็ดฟาง   4  ดอก,  น้ำตาลทราย           ½         ช้อนชา

ซิอิ๊วขาว  น้ำ  น้ำมันพืช อย่างละ            2          ช้อนโต๊ะ

น้ำมันพืชสำหรับทอด                          1           ถ้วย

 

วิธีทำ

1.เตรียมวัตถุดิบ ล้างเห็ดฟาง หั่นเป็นแว่นบาง ล้างขึ้นฉ่าย หั่นเป็นท่อนยาว  2  นิ้ว ล้างเห็ดหอมหั่นเป็นเสี้ยวๆ 

2.หั่นเต้าหู้เป็นลูกเต๋า ทอดน้ำมันน้อยๆ หรือจี่ให้เหลืองพอควร

3.เริ่มผัดเห็ดฟางและเห็ดหอมด้วยไฟกลางจนสุก ใส่เต้าหู้ทอด ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาล ใส่น้ำ ผัดให้สุกทั่ว ตามด้วยขึ้นฉ่าย ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จาน เสิร์ฟ

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ (2547) สารานุกรมผัก, แสงแดด:กรุงเทพฯ

อารีรัตน์ งามขำ (2556) ลืมป่วยด้วยสมุนไพรก้นครัว, อินส์พัล : กรุงเทพฯ

 

 4185
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์