ถ้าได้รับประทานอาหารรสชาติอร่อย ตามที่ต้องการก็ทำให้อารมณ์ดีได้ง่ายๆ แต่รู้ไหมว่านอกจากเรื่องของรสชาติอาหารแล้ว ส่วนประกอบที่อยู่ในอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เรารู้สึกดีได้ด้วย เพราะมีผลการศึกษาว่าการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ที่พบในอาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ตเป็นประจำสามารถช่วยให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามีอารมณ์ กระบวนการคิดที่ดีขึ้นนอกจากนี้ยังทำให้มีระดับความวิตกกังวลลดลง
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์และมีประโยชน์เอื้อเฟื้อต่อร่างกายมนุษย์ โพรไบโอติกส์ที่เป็นที่รู้จักได้แก่ ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum)ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis) แล็คโตแบซิลลัส เคซิไอ (Lactobacillus casei) และแล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สามารถช่วยรักษาอาการท้องผูกได้ แต่อีกประโยชน์ที่คาดไม่ถึงก็คือการรับประทานโพรไบโอติกส์สามารถควบคุมสารเคมีในร่างกายรวมถึงสารสื่อประสาทอย่างเซโรโทนิน ทำให้มีผลเชื่อมโยงต่อความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์
การศึกษาของ Akkasheh และคณะ ได้ทำการศึกษาทดลองแบบสุ่มเทียบการรรับประทาแคปซูลโพรไบโอติกส์กับกลุ่มยาหลอก ( Placebo) พบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รับประทานแคปซูลที่มีโพรไบโอติกส์เป็นเวลา 8 สัปดาห์มีผลการประเมินภาวะซึมเศร้าที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มรับประทาน และในการศึกษาการดื่มนมที่มีโพรไบโอติกส์ในผู้ที่สุขภาพดีก็แสดงผลที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือคนที่สุขภาพดีกลุ่มที่มีคะแนนการประเมินตัวเองต่ำเมื่อรับประทานนมที่มีโพรไบโอติกส์เป็นระยะเวลา 20 วันมีคะแนนการประเมินตัวเองที่ดีขึ้น นอกจากนี้การศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบยังรายงานผลว่าการรับประทานโพรไบโอติกส์มากขึ้นมีผลช่วยลดอาการวิตกกังวลทางสังคมลง ช่วยลดความคิดก้าวร้าวหรือคิดคร่ำครวญได้ สามารถบรรเทาความรู้สึกเหนื่อยล้าทางความคิด ช่วยลดอาการโทษตัวเองและช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
ผลของโพรไบโอติกส์ต่อร่างกายตามที่ได้กล่าวไป อาจมีผลมาจากการทำให้ผนังลำไส้ของมนุษย์แข็งแรงขึ้น เกิดกระบวนการอักเสบภายในร่างกายน้อยลง ร่วมกับการเพิ่มจำนวนกรดอะมิโนทริปโตเฟนที่เป็นสารตั้งต้นการผลิตสารสื่อประสาทเซโรโทนิน จึงทำให้ร่างกายสามารถควบคุมการทำงานของระบบสมองและควบคุมปริมาณสารสื่อประสาทที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ได้
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโพรไบโอติกส์ที่พบได้บ่อยได้แก่โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยว ผู้บริโภคควรสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์และเลือกบริโภคให้ถูกต้อง และนอกจากสังเกตชนิดของโพรไบโอติกส์แล้ว ผู้บริโภคควรสังเกตปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตและนมเปรี้ยวมีปริมาณน้ำตาลสูง ควรเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สูตรที่มีการลดปริมาณน้ำตาล และไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 25 กรัม เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน
เอกสารอ้างอิง
Caroline J. K. Wallace and Roumen Milev. The effects of probiotics on depressive symptoms in humans: a systematic review. Ann Gen Psychiatry (2017) 16:14.