ใบบัวบกเป็นพืชล้มลุกที่มีลักษณะคล้ายใบบัว ปลายก้านมีใบกลมเล็ก ๆ เหมือนใบบัวแต่เล็กกว่า มีรอยเว้าลึกที่ฐานใบ ขอบมีรอยหยัก ผิวด้านบนเรียบมัน นิยมกินกันทุกภาค จึงมีชื่อเรียกตามพื้นถิ่นนั้นๆ ภาคเหนือกับภาคอีสานเรียกว่า ผักหนอก ภาคใต้เรียกผักแว่น ภาคกลางเรียกว่าใบบัวบก
ใบบัวบกไม่ได้มีไว้แก้ช้ำในอย่างเดียว คุณค่าสารอาหารอื่นๆมีอีกมากมายตามตำราแพทย์แผนโบราณ เรานิยมนำใบและก้านใบนำมาต้มกับน้ำ หรือนำมาตำให้ละเอียดแล้วต้มกับน้ำกรองเอากากออก ใส่น้ำตาลทราย ใส่เกลือป่นเล็กน้อย กินพร้อมกับน้ำแข็งเพื่อเพิ่มรสชาติ ใช้จิบดื่ม มีสรรพคุณเป็นยาเย็น แก้ร้อนใน สามารถไล่ความร้อนออกจากร่างกายได้ กินแล้วทำให้ชุ่มคอ ร่างกายสดชื่น บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ส่วนใบสดมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำทาบาดแผล หรือพอกแผลที่ถูกไฟไหม้ หรือโดนความร้อน จะช่วยบรรเทาอาการแสบร้อน และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ส่วนเมล็ด นำมาทุบให้แตกแล้วต้มผสมกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อแก้อาหารปวดหัว แก้ไข้หวัด แก้ท้องเสีย สารอาหารในใบบัวบกจะมีธาตุเหล็กอยู่มาก มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ บำรุงระบบโลหิต ป้องกันโรคโลหิตจาง ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรง และเนื่องจากใบบัวบก มีรสขมอ่อนๆ กลิ่นหอม จึงนิยมนำมากินสดๆ ได้ทั้งก้านและใบได้ด้วย เป็นผักสดแกล้มกับอาหารที่มีรสชาติเข้มข้น เช่น น้ำพริก ส้มตำ ลาบ ก้อย ยำ หรือบางคนนิยมนำไปกินแกล้มกับอาหารจานเดียว เช่น หมี่กรอบ ผัดไทย แกงเผ็ด แกงกะทิ ได้เช่นกัน
คุณค่าอาหารจากใบบัวบก 100 กรัม ให้พลังงาน 44 กิโลแคลอรี่ โปรตีน 1.8 กรัม ไขมัน 0.9 กรัม คารโบไฮเดรต 7.1 กรัม เสนใยอาหาร 2.6 กรัม แคลเซียม 146 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 3.9 มิลลิกรัม
เบต้าแคโรทีน 1,243 ไมโครกรัม วิตามินเอ 207 ไมโครกรัม
เมนูที่แนะนำคือยำใบบัวบกปลาทูทอด เป็นเมนูที่กินง่าย ทำง่าย ได้ประโยชน์และอร่อยมากขึ้น เมื่อได้รับประทานพร้อมความเข้ากันกับปลาทูทอด
เอกสารอ้างอิง
กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์แสงแดด (2551) ผักพื้นบ้านอาหารไทย, แสงแดด:กรุงเทพฯ
จันทรพร ทองเอกแกว (2556) บัวบก: สมุนไพรมากคุณประโยชน, วารสารวิทยาศาสตรและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปที่ 15 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2556
วิมลรัตน์ วรรณพฤกษ์(2551)100สุดยอดสมุนไพรบำรุงสุขภาพ, เพชรประกาย:กรุงเทพฯ