แห้วเป็นผลไม้ที่น่าสงสารที่ชอบนำไปเปรียบกับความไม่สมหวัง หลายครั้ง หากอะไรไม่ได้ดั่งใจก็จะโดนล้อกันไปว่ากินแห้วนั่นเอง ถ้ามองกันทางอาหารและโภชนาการ แห้ว (Water chestnut) ถูกจัดให้อยู่ในพืชตระกูลไซเปอราซี ต้นแห้วจึงมีหน้าตาคล้ายกับต้นหอม อายุของแห้วไม่ยืนยาว เพราะเป็นพีชปีเดียวที่ขึ้นในน้ำเหมือนกับต้นข้าว ส่วนถิ่นกำเนิดของแห้วมาจากประเทศจีนตอนใต้ บางทฤษฎีก็จัดอยู่ในกลุ่มผัก บ้างก็จัดอยู่ในกลุ่มผลไม้ และแม้ว่าแห้วจะเป็นพืชหัว มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลักแต่ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่น้อยเลย
ประโยชน์ของแห้ว ได้แก่
- มีเส้นใยอาหารสูง เข้าไปขัดขวางการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสียงจากโรคมะเร็ง และยังช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูก ริดสีดวง
- เป็นได้ทั้งผักและผลไม้ที่กินง่าย เพราะรสชาติไม่จัดมาก มีความกรอบทนกรอบนานทำให้มีเนื้อสัมผัสที่ถูกใจ สามารถนำผัด ทอด เคี่ยว ต้ม หรือแช่ในน้ำเชื่อมจนกลายเป็นผลไม้กระป๋องก็ยังได้
- ตามตำราแพทย์แผนไทยโบราณ เชื่อว่าแห้วเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น จะช่วยแก้ร้อนใน และสำหรับเด็กๆ ที่มักจะรู้สึกคลื่นไส้ เนื่องจากอาหารไม่ย่อย และเด็กที่ไม่ค่อยชอบกินข้าวโดยอ้างว่าไม่หิว ลองต้มน้ำแห้วให้ดื่มจะช่วยบรรเทาอาการและช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้
เมนูแนะนำได้แก่ แห้วผัดไก่ต้นกระเทียม ซึ่งเป็นเมนูง่ายๆ สามารถเปลี่ยนชนิดเนื้อสัตว์ หรือเพิ่มวัตถุดิบอื่นลงไปได้ตามใจชอบ สำหรับแห้ว สามารถเลือกซื้อได้ทั้งแบบสดและแบบกระป๋องหากต้องการความสะดวกมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
กูร์เมท์ แอนด์ ครูซีน (2552) ผลไม้และเมนูอร่อย, อินเตอร์เนชั่นแนล วินเทจ: กรุงเทพฯ