“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

อาหารไนเตรทสูง ดีต่อหัวใจจริงรึเปล่า

อาหารไนเตรทสูง ดีต่อหัวใจจริงรึเปล่า

 

เนื่องจากโรคหลอดเลือดและหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ทำให้มีการศึกษาวิธีการป้องกันและรักษาโรคดังกล่าวจำนวนมาก หนึ่งในการศึกษาที่น่าสนใจคือการค้นพบบทบาทของสารชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในร่างกาย ชื่อว่า “ไนเตรท (Nitrate)” ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากไนเตรทช่วยเพิ่มการผลิต “ไนตริกออกไซด์ ( Nitric Oxide)” ที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมการไหลเวียนโลหิตและความดันโลหิต เมื่อร่างกายผลิตไนตริกออกไซด์น้อยลง อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่โรคหลอดเลือดและหัวใจได้

 

จากการศึกษาพบว่า โดยปกติแล้วร่างกายคนเราสามารถผลิตไนตริกออกไซด์ได้เอง การรับประทานไนไตรท์และไนเตรทก็สามารถช่วยเพิ่มปริมาณไนตริกออกไซด์ในร่างกายได้ จึงมีคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีไนเตรทสูงอย่างผักใบเขียวและผักหัว เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว อย่างไรก็ตาม การรับประทานไนไตรท์หรือไนเตรทในปริมาณที่มากเกินสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดปริมาณสารโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไนเตรทในอาหารที่ 125 และ 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหารตามลำดับ และกำหนดปริมาณไนไตรท์และไนเตรทในน้ำดื่มไม่ให้เกิน 1 และ 10 ppm ส่วนการรับประทานพวกผักใบเขียว ผักหัวและผลไม้ที่มีไนเตรทสูง มีอันตรายน้อยกว่าการรับประทานเนื้อแปรรูปและน้ำดื่ม เนื่องจากในผักและผลไม้มีส่วนประกอบอื่นๆเช่น วิตามินซีและโพลีฟีนอลที่ช่วยลดอันตรายจากการได้รับไนเตรทที่มากเกินควรอยู่

 

ปัจจุบันยังไม่ทราบปริมาณแนะนำที่แน่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อปริมาณไนเตรทในอาหาร สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีการศึกษาแนะนำปริมาณไนเตรทที่ส่งผลลดความดันโลหิตที่ 4 มิลลิโมลต่อวัน และสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง การศึกษาพบว่าการรับประทานน้ำบีทรูท 250 มิลลิลิตรต่อวัน (ประกอบด้วยไนเตรทประมาณ 6.4 มิลลิโมล) พบผลในการลดความดันโลหิต เพิ่มการทำงานของหลอดเลือดหัวใจและลดความตึงตัวของหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตามปริมาณไนเตรทที่ยอมรับได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake : ADI) กำหนดไว้ที่ 3.7 มิลลิกรัมหรือ 0.06 มิลลิโมลไนเตรท ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมของผู้บริโภค

 

ตารางแสดงปริมาณไนเตรทในผักชนิดต่างๆต่อหน่วยบริโภค 80 กรัม

 

การรับประทานอาหารที่มีไนเตรทสูงมีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับรูปแบบการรับประทานและปริมาณที่รับประทาน หากรับประทานไนไตรท์หรือไนเตรทจากเนื้อสัตว์แปรรูปอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนรับประทานไนเตรทผ่านผักและผลไม้นอกจากจะได้ประโยชน์จากไนเตรทแล้วยังได้รับประโยชน์จากใยอาหารและสารพฤกษเคมีต่างๆด้วย

 

 

เอกสารอ้างอิง

-Ahluwalia A, Gladwin M, Coleman GD, et al. Dietary Nitrate and the Epidemiology of Cardiovascular Disease: Report From a National Heart, Lung, and Blood Institute Workshop. Journal of the American Heart Association: Cardiovascular and Cerebrovascular Disease. 2016;5(7):e003402. doi:10.1161/JAHA.116.003402.

-Catherine P. Bondonno, Kevin D. Croft & Jonathan M. Hodgson (2016) Dietary Nitrate, Nitric Oxide, and Cardiovascular Health, Critical Reviews in Food Science and Nutrition, 56:12, 2036-2052, DOI: 10.1080/10408398.2013.811212

-Kapil V, Khambata RS, Robertson A, Caulfield MJ, Ahluwalia A. Dietary nitrate provides sustained blood pressure lowering in hypertensive patients: a randomized, phase 2, double-blind, placebo-controlled study. Hypertension. 2015;65(2):320-327. doi:10.1161/HYPERTENSIONAHA.114.04675.

-Satnam Lidder and Andrew J. Webb (2013). Vascular effects of dietary nitrate (as found in green leafy vegetables and beetroot) via the nitrate nitrite nitric oxide pathway. Br J Clin Pharmacol. 2013 Mar; 75(3): 677–696. Published online 2013 Feb 5. doi:  10.1111/j.1365-2125.2012.04420.x

-สํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2555). อันตรายจากการรับประทานอาหารที่มสารไนเตรทและไนไตรท์. รายงานการเฝ้าระวงทางระบาดวิทยาประจําสัปดาห์

 

 

 7384
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์