“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ฉลากโภชนาการ vs ฉลากอาหาร

ฉลากโภชนาการ vs ฉลากอาหาร

ในบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง “จะฉลาดกิน ต้องอ่านฉลากเป็น” ได้อธิบายให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ”ฉลากโภชนาการ” ไปแล้ว แต่ยังมีอีกฉลากที่สำคัญและควรทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ “ฉลากอาหาร” ซึ่งฉลากนี้ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทุกประเภท ตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย

 

ฉลากอาหารบ่งบอกข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่างๆเหล่านี้

 

  1. ชื่อและประเภท

เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคตัดสินในได้ถูกต้องว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องการหรือไม่ อาทิ แหนมไบโอเทคยี่ห้อ “วนัสนันท์” ที่ระบุไว้บนฉลากอย่างชัดเจนว่าเป็นแหนมไบโอเทค ซึ่งกระบวนการผลิตแหนมไบโอเทค เป็นข้อยืนยันความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในการขจัดเชื้อโรคอันตรายใดๆ ต่อผู้บริโภค ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลว่าจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด

  1. ชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ให้ข้อมูลด้านความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์บนชื่อเสียงของบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
  2. ส่วนประกอบ

ข้อมูลชี้แจงรายละเอียดว่าในผลิตภัณฑ์นี้มีวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนในอาหารอะไรอยู่บ้าง และในอัตราส่วนเท่าไร เช่น ผงชูรส สารกันบูด สารกันเสีย สารแต่งสีแต่งกลิ่น ซึ่งส่วนประกอบบางประเภทอาจมีผลกระทบทางด้านลบต่อผู้บริโภคได้ จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อ

  1. คำแนะนำ

ให้ผู้บริโภครู้จักวิธีเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ เช่น เก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เก็บให้ห่างจากแสงแดด

  1. คำเตือน

แสดงข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากอันตรายที่อาจเกิดต่อผู้บริโภคได้ เช่น มีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาจมีผลกระทบต่อผู้ที่แพ้อาหารประเภทต่างๆ หรือ ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมกับเด็กและสตรีมีครรภ์

  1. วัน/เดือน/ปีที่ผลิตและหมดอายุ เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคคำนวณว่าสามารถบริโภคผลิตภัณฑ์ให้หมดได้ภายในระยะเวลาของวัน/เดือน/ปีที่หมดอายุ หากเจอคำว่าควรบริโภคก่อน หรือ best before หมายถึง ยังพอสามารถบริโภคได้แต่คุณภาพของสินค้าจะลดลงหลังจากวันที่กำหนดไว้      

 

นอกจากการที่ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากอาหารก่อนซื้ออาหารและเครื่องดื่มอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผู้บริโภคยังต้องพิถีพิถันในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีความสะอาดและไม่บุบสลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระป๋องอะลูมิเนียมต้องไม่บุบหรือมีรูปทรงไม่ปกติ ไม่มีสิ่งสกปรก เช่น มูลของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค หรือการสะสมของขี้ฝุ่นและเชื้อโรค อย่างไรก็ดี ความสะอาดที่ผู้บริโภคสามารถมองเห็นได้ด้วยตาก็ไม่ใช่ปัจจัยที่สามารถนำมายืนยันความสะอาดปลอดเชื้อโรคที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ข้อแนะนำคือ ผู้บริโภคควรต้องล้างบรรจุภัณฑ์ให้สะอาดก่อนนำไปเปิดใช้บริโภคนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

รศ.ดร.อดิทธิ์ เชี่ยวสกุล (2559) อ่านฉลากก่อนซื้ออาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็น...ผู้บริโภคที่ฉลาด, วารสารเสริมสร้างสุขภาพ ปีที่ 15 ฉบับที่  60(ตุลาคม-ธันวาคม2559)

 899
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์