“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

สิ่งที่ควรระวัง เมื่อละเลยมื้อเช้า

สิ่งที่ควรระวัง เมื่อละเลยมื้อเช้า

 

มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน เนื่องจากเป็นมื้อแรกหลังจากการนอนพักผ่อนไม่ได้รับประทานอาหารเป็นเวลากว่า 6-8 ชั่วโมง การไม่ได้รับประทานอาหารเช้าจะทำให้การกระจายของพลังงานทั้งวันไม่สมดุล ส่งผลให้กินอาหารในมื้อกลางวันและเย็นในปริมาณมากกว่าปกติ การกินอาหารเช้าจะทำให้สุขภาพดีและมีความพร้อมในการเรียนและการทำงานในเช้าวันใหม่ ในทางตรงกันข้ามการงดอาหารเช้าจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCD) ได้ สิ่งที่ควรระวังที่อาจจะเกิดกับสุขภาพ มีดังนี้

1. อาจทำให้สมาธิสั้นลง

หากไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ร่างกายจะไม่ได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลกลูโคสซึ่งเป็นสารอาหารหลักของสมอง เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จะให้ให้น้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้อ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ  

2. กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด

นอกจากนี้การที่่สมองได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ยังส่งผลให้เกิดอารมณ์โมโหหิว หงุดหงิดง่าย มองโลกในแง่ร้าย และใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

3. อ้วนได้ง่ายๆ

การไม่ได้รับประทานอาหารเช้า จะทำให้เรารวบรวมความหิวของมื้ออาหารเช้าและกลางวันเข้าเป็นมื้อใหญ่มื้อเดียวโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังพบว่าจะมีพฤติกรรมรับประทานขนมจุบจิบมากขึ้น ระหว่างวันไปตลอดวัน ดังนั้นทำให้พลังงานและสารอาหารเกินความต้องการ พลังงานส่วนที่เหลือถูกสะสมในร่างกายและเกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามมาในอนาคต

4. เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะ

กระเพาะของมนุษย์เรามีหน้าที่หลั่งกรดออกมา เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร ในกรณีที่ถึงเวลารับประทานอาหารแล้วไม่มีอาหารตกถึงท้อง กระเพาะก็ยังจะหลั่งกรดออกมาเช่นเดิม แต่แทนที่จะย่อยอาหารกลับไปทำให้เยื่อกระเพาะระคายเคือง อาจเกิดเป็นแผล ทำให้เด็กมีอาหารปวดท้อง จุกเสียด และนำไปสู่โรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ในที่สุด

ดังนั้นการรับประทานอาหารเช้าและมื้ออาหารอื่นๆให้เป็นเวลานั้นสำคัญมาก อย่าละเลยมื้ออาหาร และอย่าลืมเลือกอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพด้วยนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง

Cahill, L. E., Chiuve, S. E., Mekary, R. A., Jensen, M. K., Flint, A. J., Hu, F. B., & Rimm, E. B. (2013). A Prospective Study of Breakfast Eating and Incident Coronary Heart Disease in a Cohort of Male U.S. Health Professionals. Circulation, vol.128(4), p337–343.

Zhang L et al. (2017) The Association between Breakfast Skipping and Body Weight, Nutrient Intake, and Metabolic Measures among Participants with Metabolic Syndrome, Nutrients, Vol.9 (384), p1-14

 

 

 

 

 437
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์