“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

อาหารดี สมองดี (ตอนที่ 3)

อาหารดี สมองดี (ตอนที่ 3)

 

 

ตอนสุดท้ายของบทความ อาหารดี สมองดี กล่าวถึงการเลือกอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มสารอาหาร

 

ธาตุเหล็ก มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ มีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายและสมอง หากสมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ประสิทธิภาพในการเรียนรู้จะลดลง แหล่งอาหารธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ เลือด ตับ ไข่ นม และพืชผักใบเขียว ถั่วงา

 

สังกะสี มีส่วนช่วยในการพัฒนากระบวนการความคิดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมกระบวนการรับรู้ทางด้านรสสัมผัสและกลิ่นของอาหาร ให้มีความสุขในขณะรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น แหล่งอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี ได้แก่ อาหารทะเล หอยนางรม เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ชีส ผักใบเขียว

 

ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความฉลาดของเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ หากมารดาได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์ หรือเด็กเล็กคนใดไม่ได้รับการเสริมไอโอดีนตามกำหนด จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองและร่างกายช้าที่กว่าเด็กปกติ เนื่องจากสารไอโอดีนเป็นสารตั้งต้น ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของสมอง และร่างกายของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุประมาณ 3 ปี แหล่งอาหารที่มีธาตุไอโอดีน ได้แก่ อาหารทะเลทุกชนิด ไข่ และเกลือเสริมไอโอดีน

 

อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าการพัฒนาของสมองนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตประจำวันที่ดีต่อสุขภาพ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การทำกิจกรรมที่มีการฝึกใช้กระบวนการความคิดอยู่เป็นประจำด้วย

 

 

เอกสารอ้างอิง

Bourre J M. (2006), Effects of Nutrients (in food) on the structure and function of the nervous system: Update on Dietary requirements for Brain. Part1 : Micronutrients, The Journal of Nutrition Health&Aging, Vol10, No.5, p.377-385

 

Pinilla F G. (2008), Brain Foods: the effects of nutrients on brain function, Nature Reviews: Neuroscience, Vol.9, p.568-578

 

 404
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์