จากงานวิจัยจำนวนมากที่ถูกศึกษากันมาเป็นเวลานานนับหลายสิบปี พบว่า การเลือกรับประทานอาหารมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ และจะส่งผลได้ดีขึ้นเมื่อทำร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ การพักผ่อนให้เพียงพอ และการทำกิจกรรมต่างๆที่ช่วยให้สมองได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น เล่นเกมเสริมเชาว์ปัญญา การคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ เป็นต้น
หมวดอาหารข้าวแป้ง
สมองใช้พลังงานโดยตรงจากน้ำตาลกลูโคสซึงได้มาจากการย่อยแป้งและน้ำตาลที่ร่างกายได้รับจากอาหาร ในภาวะที่น้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ สมองจะทำงานได้ช้าลง อ่อนล้า และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในทางกลับกันหากสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสมากเกินไป ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้สารสื่อประสาทภายในสมองอาจไม่สมดุลได้ การเลือกรับประทานอาหารกลุ่มนี้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งควรเลือกบริโภคให้หลากหลายได้ทั้งข้าวแป้งชนิดที่ขัดสีและขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง
หมวดอาหารเนื้อ นม ไข่
มีส่วนประกอบของกรดอะมิโน ทั้งชนิดที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้และไม่ได้ กรดอะมิโนมีหน้าที่สำคัญที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารสื่อประสาทต่างๆในสมอง เช่น กรดอะมิโนทริปโตเฟน เป็นสารตั้งต้นใช้สังเคราะห์สารสื่อประสาทซีโรโตนิน ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการนอนหลับ และกรดอะมิโนไทโรซีน ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทชนิดโดปามีน ช่วยทำให้คลายกังวลและลดอาการซึมเศร้า
หมวดน้ำมันและเนื้อปลาทะเลน้ำลึก (กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า3 โอเมก้า6 และโอเมก้า9)
มีส่วนประกอบของกรดไขมัน ซึ่งมีหน้าที่หลักคือสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท และเซลล์เยื่อบุผิวของเนื่อเยื่อสมอง อีกทั้งยังช่วยเสริมการเจริญของเซลล์ปลายประสาท ทำให้การส่งสัญญาณของเซลลล์ประสาทเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
เอกสารอ้างอิง
Bourre J M. (2006), Effects of Nutrients (in food) on the structure and function of the nervous system: Update on Dietary requirements for Brain. Part1 : Micronutrients, The Journal of Nutrition Health&Aging, Vol10, No.5, p.377-385
Pinilla F G. (2008), Brain Foods: the effects of nutrients on brain function, Nature Reviews: Neuroscience, Vol.9, p.568-578