เสียน้ำ
ในวันหนึ่งๆ เราจะเสียน้ำในรูปแบบของเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ รวมแล้วประมาณ 1.5 – 2 ลิตรต่อวันเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ต้องมีการดื่มน้ำเข้าไปทดแทนวันละ 8 – 10 แก้ว โดยตอนตื่นนอนแนะนำให้ดื่มน้ำ 2 แก้ว
ปริมาณน้ำดื่ม
มีการศึกษาจากต่างประเทศอย่างชัดเจน เปรียบเทียบว่า ในคนปกติที่ดื่มน้ำน้อยกว่า 2 แก้วต่อวัน หรือมากกว่า 5 แก้วต่อวัน พบว่า จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่า ในผู้ป่วยที่ดื่มน้ำน้อย
น้ำร้อน &น้ำเย็น
การดื่มน้ำ แนะนำว่าควรดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น ไม่ควรเป็นน้ำเย็น เนื่องจากว่าจะทำให้การย่อยอาหารไม่ดี เกิดการหดรัดเกร็งของหลอดอาหาร จะมีอาการจุกตรงกลางอก คล้ายๆลักษณะของอาการโรคหัวใจ สำหรับน้ำในรูปแบบอื่นๆ เช่น น้ำอัดลม โซดา เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ผู้ป่วยเบาหวานยิ่งห้ามดื่มน้ำประเภทนี้
เป็นโรคหัวใจ ดื่มน้ำอย่างไรดี?
ในผู้ป่วยโรคหัวใจบางชนิด ที่เคยมีประวัติเกิดหัวใจล้มเหลว ไตทำงานบกพร่อง การดื่มน้ำต้องมีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณ โดยขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจาก เนื่องจาก เมื่อดื่มน้ำเข้าไปจะไปเพิ่มปริมาณน้ำเลือดในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำและเกลือคั่ง โดยอาจจะมีอาการบวมบริเวณ เท้า และหน้าแข้งทั้งสองข้าง หรือภาวะปอดบวมน้ำ เนื่องจากหัวใจห้องซ้ายล่างบีบตัวอ่อน น้ำที่เข้าสู่ร่างกายผ่านมาทางหลอดเลือดดำที่ไปปอด และกลับจากปอดมายังหัวใจ ก็จะบีบออกไม่ทัน
หรือโรคไตบางอย่าง ที่ปัสสาวะออกน้อย ก็จะเกิดภาวะบวมน้ำเช่นกัน การจำกัดปริมาณน้ำ ต้องมีการชั่งน้ำหนักทุกวัน ว่าน้ำหนักขึ้นเกิน 1 กิโลกรัมต่อวันจากน้ำหนักเดิมหรือไม่ โดยชั่งหลังจากเข้าห้องน้ำตอนเช้าถ้ามีอาการดังกล่าวอาจต้องรับประทานยาขับปัสสาวะเพิ่ม
มาดื่มน้ำสะอาดกันเถอะ
การดื่มน้ำสะอาด วันละ 2 – 2.5 ลิตร (8 – 10 แก้วปกติ) ในผู้ป่วยโรคหัวใจ จะทำให้การไหลเวียนโลหิตคล่องตัว และลดการเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว โรคไต ดื่มน้ำได้ โดยจำกัดปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์
เรียบเรียงโดย นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี
หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก