การกินผักใบเขียวจะช่วยให้ร่างกายได้รับใยอาหารซึ่งช่วยในระบบขับถ่าย และยังช่วยให้อิ่มได้โดยไม่ต้องรับไขมันและคาร์โบไฮเดรตเพิ่ม จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ในผักใบเขียวนั้น มีสารหลายชนิดที่ช่วยต้านโรคหลอดเลือดหัวใจโดยตรง และยังต้านโรคอื่นๆ ได้ด้วย
ผักใบเขียวมีสารอินโดล-3-คาร์บินอล ( หรือ I3C) พบในผักพวกกระหล่ำ เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หัวไชเท้า ซึ่ง I3C มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้
สาร I3C ยังมีฤทธิ์ต้านการเกิดโรคมะเร็งโดยเร่งการทำงานของเอนไซม์กำจัดสารพิษและสารก่อกลายพันธุ์ในตับทำให้มีเอนไซม์กำจัดสารพิษมากขึ้น
ผักใบเขียวมีคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารสีเขียวในผัก จากการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า คลอโรฟิลล์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของคลอโรฟิลล์มีฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอกที่เต้านม ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งตับ ช่วยเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว และช่วยขับสารพิษด้วย
นอกจากนี้ผักใบเขียวยังมีลูทีน (lutein) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบมากในผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักโขม อะโวคาโด ลูทีนยังช่วยลดอัตราการเสื่อมของจอประสาทตาอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาบอดในผู้สูงอายุได้ด้วย
ฉะนั้น เรามาเปลี่ยนความอิ่มในมื้ออาหารให้เป็น"อิ่มสุขภาพ" จากการรับประทานผักใบเขียวมากขึ้น เพื่อต้านโรคหลอดเลือดหัวใจ แถมยังช่วยต้านมะเร็งและทำให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย
แหล่งข้อมูล
- บทความ "กินตามสี อาหารเพื่อสุขภาพ ๕ สี" โดย รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ
กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 316 สิงหาคม 2548
- บทความ "คลอโรฟิลล์มีประโยชน์จริงหรือ?" โดย พนิดา ใหญ่ธรรมสาร
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล