“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

กินอย่างไรให้ไร้กังวลเรื่องความดัน

กินอย่างไรให้ไร้กังวลเรื่องความดัน

ความดันโลหิตสูงเป็น “ภัยเงียบ” ที่หลายคนมักไม่รู้ตัว ทำให้ได้รับการรักษาช้าเกินไปจนนำไปสู่โรคหัวใจวายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต ลองมาดูกันว่าเกณฑ์การตัดสินทางการแพทย์เรื่องความดันเลือดนั้นจะ“สูงและเสี่ยง” อยู่ที่เท่าไร

เมื่อวัดความดันเสร็จให้ดูเลขความดันทั้ง “ตัวบน”และ “ตัวล่าง”ถ้าอายุต่ำกว่า 60 ปี แล้วเลขความดันตัวบนเกิน 140 มม.ปรอท และ/หรือ เลขความดันตัวล่างเกิน 90 มม.ปรอท ถือว่าความดันเลือดสูง

ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไป แล้วเลขความดันตัวบนเกิน 150 มม.ปรอท และ/หรือ เลขความดันตัวล่างเกิน 90 มม.ปรอท  ถือว่าความดันเลือดสูง

ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นโรคเบาหวานหรือโรคไตให้ดูว่าถ้าเลขความดันตัวบนเกิน 140 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันตัวล่างเกิน 90 มม.ปรอท ถือว่าความดันเลือดสูง

การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อวัดความดันจึงเป็นเรื่องสำคัญถ้าพบว่าความดันเลือดของเราอยู่ในระดับสูงแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


ข้อแรกกินยาควบคุมความดันเลือดตามแพทย์สั่ง  ถ้ามีโรคประจำตัวอื่นๆต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน จะได้เลือกยาที่เหมาะสมที่สุดให้ ถ้าใช้ยาแล้วมีผลข้างเคียงต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที  เพื่อเปลี่ยนชนิดยาไม่ให้มีผลข้างเคียง

ข้อ 2 หลีกเลี่ยงยาอื่นๆ ที่มีผลทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น เช่นยาแก้อักเสบ (NSAIDs)

ข้อ 3 “ลดเค็ม” คือไม่ควรกินเกลือเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือคิดเป็นโซเดียม 2.3 กรัม   โดยคิดรวมทั้งจากอาหาร ขนม เครื่องดื่มทุกชนิดที่กินต่อวัน แต่ถ้าเป็นโรคไตหรือโรคเบาหวาน ก็ต้องลดเกณฑ์นี้ลงไปอีกเหลือโซเดียมไม่เกิน 1.5 กรัมต่อวัน

ข้อ 4 “เลิกบุหรี่” ช่วยลดความดันและลดความเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบได้

ข้อ 5 “เลิกแอลกอฮอล์ทุกชนิด” เพราะแอลกอฮอลล์มีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือดได้อย่างรวดเร็ว

ข้อ 6 “เลิกชา กาแฟ และคาเฟอีนทุกชนิด” เพราะมีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือดเช่นกัน

ข้อ 7 “ลดน้ำหนัก” ด้วยวิธีที่ถูกต้องเท่านั้น คือออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดการกินไขมัน น้ำตาล และแป้ง เน้นกินผักใบเขียวและผลไม้ที่หวานน้อยกากใยสูง

และข้อ8 ลดความเครียดและความวิตกกังวลลง  รู้ทันอารมณ์ของตัวเองอย่างมีสติ และแบ่งเวลาฝึกสมาธิเพื่อความสงบในจิตใจบ้าง

 

หากทำได้ทุกข้อ ก็ลดความกังวลเรื่องความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบลงไปได้บ้างที่สำคัญอย่าคิดไปเองว่า “เรื่องตรวจสุขภาพไม่สำคัญ”เพราะถ้ารู้ช้าเกินไป ผลร้ายที่ตามมานั้นจะไม่คุ้มกันเลย

 

แหล่งข้อมูล : 

บทความ “ข้อปฏิบัติ 8 ข้อเมื่อรู้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง” โดย ผศ.พญ. รัชนี แซ่ลี้ รพ.รามาธิบดี จาก สารหัวใจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 โดยมูลนิธิหัวใจ ในพระราชูปถัมภ์
คอลัมน์ “ไขปัญหาโรคหัวใจ” จาก สารหัวใจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 6 โดยมูลนิธิหัวใจ ในพระราชูปถัมภ์

 350
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์