เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ต้องใส่ใจไม่พ้นเรื่องสุขภาพก็คือเรื่องอาหารการกิน เพราะถึงแม้ว่าคนสูงวัย จะต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เช่นเดียวกับวัยอื่นๆ แต่ก็ต้องลดปริมาณอาหารหลายอย่างที่ไร้ประโยชน์และเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์เช่นกัน
อาหารที่ควรลดปริมาณเริ่มจากอาหารประเภทไขมัน เช่น อาหารจำพวกของทอด ขาหมู ขนมนมเนยคนสูงวัยไม่ควรรับประทานไขมันเกินวันละ 25 กรัม หรือถ้าคิดเป็นปริมาณไขมันล้วนหรือน้ำมันคือ 5 ช้อนชา (ข้อมูลจากคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ)เพื่อลดไขมันที่จะไปอุดตันตามหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
อาหารประเภทต่อไปที่ต้องระวังคือคาร์โบไฮเดรต ควรรับประทานประมาณ 500-700 กรัมต่อวันเช่น น้ำตาล แป้ง คนสูงวัยต้องลดปริมาณน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
ส่วนแป้งชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ควรเลือกแบบที่ไม่ผ่านการขัดสี และผ่านการแปรรูปน้อย มีใยอาหารมาก เช่นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต โดยลดหรืองดข้าวขาว ขนมปังขาว โจ๊กสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ซึ่งผสมน้ำมันลงไปไม่ให้เส้นติดกัน รวมทั้งบะหมี่ซึ่งผสมไข่ลงไปด้วย
ส่วนอาหารประเภทโปรตีนนั้นควรเน้นโปรตีนที่ย่อยง่าย และมีไขมันชนิดดี เช่น ปลา เต้าหู้ โดยอาหารทุกประเภทควรหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารอย่างเค็มจัด (ห้ามรับประทานโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม)หรือหวานจัด (ห้ามรับประทานน้ำตาลเกิน 24 กรัมหรือ 6 ช้อนชาต่อวัน)
หลังจากลดอาหารที่ไม่มีประโยชน์ไปแล้ว มาดูอาหารที่ต้องรับประทานเพิ่มเติมบ้าง คนสูงวัยควรกินผักผลไม้ให้มากขึ้น(ควรรับประทานประมาณ 400 กรัมต่อวัน)เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ที่สำคัญคือใยอาหารจะช่วยลดอาการท้องผูกและไม่ทำให้อ้วน ยกเว้นผลไม้รสหวานจัดและใยอาหารต่ำ เช่นทุเรียน มะม่วงสุก
นอกจากนี้ควรคำนึงอยู่เสมอว่าอาหารสำหรับผู้สูงอายุต้องปรุงให้สุก เนื้อนุ่ม ง่ายต่อการเคี้ยวและย่อย ดังนั้นอาหารของผู้สูงวัย ต้องดูแลใส่ใจอย่างพิถีพิถันเพื่อให้พวกเขาอยู่กับเราอย่างมีความสุข ไร้โรคภัยเบียดเบียน