ถั่วเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ ถั่วที่ได้รับความนิยมในเรื่องของคุณประโยชน์ และยังเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของเมืองไทยในตอนนี้คงหนีไม่พ้น "ถั่วดาวอินคา"
ถั่วดาวอินคาเพิ่งเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาประมาณ 5 ปี มีถิ่นกำเนิดในป่าอะเมซอนของทวีปอเมริกาใต้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่นถั่วดาวอินคามีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม เมื่อกะเทาะออก จะนำเมล็ดสีขาวด้านในมาแปรรูปเพื่อรับประทานได้
จากการศึกษาทั้งในสัตว์ทดลองและในคน พบว่าถั่วดาวอินบริโภคได้อย่างปลอดภัย ซึ่งคนในแถบลุ่มน้ำอะเมซอนก็บริโภคและใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารมาเป็นเวลานาน
จากบทความ “ถั่วดาวอินคา... ถั่วรักษ์หัวใจและสุขภาพ” : โดย ผศ.ดร.พร้อมลักษณ์ สมบูรณ์ปัญญากุล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวารสาร “สารหัวใจ ” ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 กล่าวว่านอกจากโปรตีนแล้ว ถั่วดาวอินคายังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวโดยเฉพาะโอเมก้า 3 สูง ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็น ร่างกายต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้กรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 นี้ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ถั่วดาวอินคาเป็นแหล่งของวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกายมนุษย์ที่อาจก่อให้เกิดโรค ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และยังช่วยต้านการอักเสบอีกด้วย
นอกจากวิตามินอี ถั่วดาวอินคายังมีสารแคโรทีนและสารพอลิฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยงานวิจัยของภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า น้ำมันจากถั่วดาวอินคามีปริมาณสารพอลิฟีนอลสูงใกล้เคียงกับน้ำมันงา นอกจากนี้ถั่วดาวอินคายังมีสารไฟโตสเตอรอลซึ่งมีสมบัติในการยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลและลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
ปัจจุบันเราหาซื้อถั่วดาวอินคาได้ในแบบบรรจุถุงจำหน่ายหรือแบบแปรรูปโดยนำถั่วมาสกัดน้ำมันบรรจุในแคปซูลซอฟต์เจล รับประทานเป็นอาหารเสริมจากการวิจัยของภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลยังพบว่ากากถั่วดาวอินคาที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน สามารถนำไปทำเป็นคุกกี้และขนมขบเคี้ยวชนิดแท่งได้ด้วย
แหล่งข้อมูล :
บทความ “ถั่วดาวอินคา... ถั่วรักษ์หัวใจและสุขภาพ” : โดย ผศ.ดร.พร้อมลักษณ์ สมบูรณ์ปัญญากุล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวารสาร “สารหัวใจ ” ปีที่ 11 ฉบับที่ 2