ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารและขนม แต่เนื่องจากไขมันในรูปน้ำมันเก็บรักษายาก ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารจึงต้องหันไปใช้ไขมันในรูปของแข็งที่เรียกว่าไขมันทรานส์กันมาก เพราะเก็บได้นาน ไม่เหม็นหืนง่าย จึงลดต้นทุนการผลิตได้ แต่รู้หรือไม่ว่าไขมันทรานส์มีโทษต่อร่างกาย โดย เฉพาะความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน!
ไขมันทรานส์เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว เกิดจากการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเพื่อให้น้ำมัน กลายเป็นของแข็งหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว เมื่อร่างกายได้รับไขมันทรานส์เข้าไป จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลและ LDL หรือ “ไขมันชนิดเลว” ในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อหัวใจ ในทางกลับกัน HDL หรือ “ไขมันชนิดดี” ในเลือดก็จะลดลง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจให้สูงขึ้นไปอีก รวมถึงโรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน และโรคอื่นๆด้วย
วิธีสังเกตว่าอาหารสำเร็จรูปนั้นๆ มีไขมันทรานส์หรือไม่คือ การดูฉลากแสดงส่วนประกอบ (ingredients) และข้อมูลโภชนาการ (nutrition facts) ให้สังเกตว่ามีคำใดคำหนึ่งต่อไปนี้หรือไม่ ได้แก่ “shortening” หรือ “trans fat” หรือ “hydrogenated vegetable oil” หรือ “hydrogenated margarine” ...ถ้ามีอยู่ในส่วนประกอบ แสดงว่าอาหารหรือขนมนั้นๆ มีไขมันทรานส์อยู่
อาหารและขนมที่ไม่มีฉลาก ให้สังเกตว่าขนมชนิดใดที่เก็บได้นานโดยยังคงความกรอบและไม่เหม็นหืน ก็มีแนวโน้มว่าจะขนมนั้นๆ จะใช้ไขมันทรานส์ในการผลิต ส่วนอาหาร เช่น พิซซ่า ก็ควรเลือกร้านหรือแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ และรับประทานในปริมาณน้อย นานๆ ครั้ง นอกจากนี้แม้แต่ร้านอาหารทั่วๆ ไป เราก็อาจพบไขมันทรานส์ได้ ถ้าร้านนั้นใช้น้ำมันเดิมทอดซ้ำๆ ขนมคุกกี้มักมีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ควรสังเกตกล่องเพื่อทราบถึงปริมาณที่ของไขมันทรานส์ที่ใช้ แม้ปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่จะเลิกใช้แล้วก็ตาม
ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้จำกัดการกินไขมันทรานส์ ส่วนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศก็ออกกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตอาหารหรือขนมต้องบ่งบอกปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากให้ชัดเจน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่พยายามจัดการให้อาหารทั้งหลายปราศจากไขมันทรานส์ด้วย
รู้แบบนี้แล้ว ผู้บริโภคไทยก็ควรใส่ใจและหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์เพื่อสุขภาพของเราเอง จะได้ไม่เป็นภาระกับหัวใจ
แหล่งข้อมูล :
บทความ “มารู้จักไขมันทรานส์... ไขมันที่อันตรายต่อสุขภาพ” : โดย คุณสมศรี เตชะวรกุล นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตีพิมพ์ใน “สารหัวใจ” ปีที่ 9 ฉบับที่ 5