อยากให้ทุกคนลองนึกถึงเมื่อครั้งอดีตที่กำลังสนุกกับการละเล่นไทย ไม่ว่าจะเป็นม้าก้านกล้วย มอญซ่อนผ้า ตี่จับ รีรีข้าวสาร กระโดดยาง เป็นต้น การละเล่นไทยทุกชนิดที่บรรพบุรุษเราแนะนำและสอนให้เล่นมาตั้งแต่โบราณนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความเพลิดเพลินแก่สำหรับวัยเด็กแล้ว ยังมีคุณค่าอื่นๆแฝงอยู่มากมาย ได้แก่ การเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ ซึ่งการละเล่นหลายชนิดฝึกให้เด็กได้รู้จักสังเกต เพิ่มทักษะ สร้างไหวพริบ ฝึกการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า สอนให้เข้าสังคม สอนให้เด็กเข้ากับเพื่อนได้ง่าย ดังนั้น ถ้าเรานำการละเล่นอันทรงคุณค่ามาสอนให้ลูกหลานเราบ้าง ก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยต่อสุขภาพกายและใจที่ดี และยังเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทยไว้สืบไปได้อีกด้วย
ประโยชน์สำคัญจากการละเล่นไทย
บทความนี้ขอยกตัวอย่างการละเล่นง่ายๆ 2 อย่าง ที่สามารถนำไปสอนสมาชิกตัวเล็กๆในครอบครัว ได้อย่างง่ายๆ และสามารถลงไปเล่นเป็นเพื่อนกับพวกเขา และยังถือเป็นการสร้างสัมพันธภาพภายในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
การละเล่นกระต่ายขาเดียว
โดยแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายเท่ากัน โดยผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็น"กระต่าย" จะยืนบนขาข้างเดียว งอเข่าขาอีกข้างไม่ให้เท้าสัมผัสพื้น แล้วกระโดดเขย่ง เพื่อไล่จับฝ่ายตรงข้ามคนอื่นๆ ให้สลับมาเป็นกระต่ายแทน นิยมเล่นตามลานโล่งกล้างหรือสนามหญ้า ทีมที่เป็นกระต่าย จะส่งกระต่ายมาทีละคน แล้วกระโดดเขย่ง ไล่แตะตัว อีกทีม หากกระต่ายเหนื่อย ก็แตะมือคนในทีมเดียวกัน สลับมาเป็นกระต่ายไล่ฝ่ายตรงข้ามแทน การกำหนดขอบเขตพื้นที่ชัดเจนตามปริมาณผู้เล่น เช่น ประมาณ 5x5 เมตร เพื่อให้การกวดไล่จับ ไม่ยากเกินไปนัก หากผู้ที่วิ่งหนีออกนอกบริเวณ ก็เสมือนถูกกระต่ายแตะตัวได้ ถือว่าโดนปรับแพ้และต้องมาเป็น"กระต่าย"แทน การละเล่นประเภทนี้จะช่วยออกกำลังกายขาได้เป็นอย่างดีมากๆ และฝึกทรงตัวด้วยขาข้างเดียว
รีรีข้าวสาร
การละเล่นยอดนิยมทุกยุคทุกสมัย สามารถมีผู้เล่นกี่คนก็ได้ แต่จะมีผู้เล่น 2 คนยืนหันหน้าเข้าหากันโน้มตัวประสานมือกันเป็นรูปซุ้ม ส่วนคนอื่นที่เป็นคนรอดซุ้ม จะต้องเกาะเอวต่อๆ กันตามลำดับ หัวแถวจะพาลอดใต้ซุ้มมือพร้อมกับร้องเพลง บทเนื้อร้องประกอบการเล่นว่า “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว” อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจะเพี้ยนกันมาเป็นบทร้อง “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน คอยระวังคนข้างหลังเอาไว้ให้ดี” ซึ่งเมื่อร้องถึงประโยคที่ว่า “คอยพานคนข้างหลังไว้” หรือ“คอยระวังคนข้างหลังเอาไว้ให้ดี” ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันคนสุดท้ายไว้ ซึ่งคนสุดท้ายจะถูกคัดออกไปจากแถว แล้วจึงเริ่มต้นเล่นใหม่ทำเช่นนั้นจนหมดคน การละเล่นนี้จะช่วยให้ได้ออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายจากการเดินและวิ่ง ฝึกหัดให้เด็กมีไหวพริบ ปฏิภาณ และรู้จักใช้วิธีหรือเทคนิคที่จะให้ตนเองรอดจากการถูกคล้องตัวไว้ และหัดให้เด็กรู้จักทำงานเป็นกลุ่มให้รอดพ้นจากการถูกกักตัวให้ได้
ขอฝากการละเล่นไทย เพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายให้กับเด็กๆด้วยนะคะ
เอกสารอ้างอิง
กลุ่มนันทนาการเด็กและเยาวชน สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2557) การละเล่นพื้นบ้านไทย, โรงพิมพ์เอส.ออฟเซ็ทกราฟฟิคดีไซน:กรุงเทพฯ