“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

ออกกำลังทำได้ยาก...แต่ทำได้

ออกกำลังทำได้ยาก...แต่ทำได้

 

แม้ว่าทุกคนทราบดีถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย แต่การที่จะออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอนั้น ทำได้ยากโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือคนที่เป็นโรคอ้วน การศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วนขอถอนตัวจากการออกกำลังกายมากถึงร้อยละ 50 นั่นหมายความว่าครึ่งหนึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จแล้วแน่ๆ โดยสาเหตุที่ทำให้ถอนตัวและเลิกออกกำลังกายในที่สุด คือ สภาพแวดล้อมไม่สะดวกต่อการออกกำลังกาย ความเข้าใจหรือความเชื่อว่าตนเองไม่มีเวลาออกกำลังกาย และการถูกบังคับให้ออกกำลังกาย หากสามารถช่วยปรับเปลี่ยนปัจจัยเหล่านี้ให้เหมาะสมในรายบุคคลมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคอ้วนสามารถออกกำลังกายได้ และไม่ขอออกจากแผนการการออกกำลังกายไปอย่างง่ายๆแน่นอน

 

ปัญหาสภาพแวดล้อมไม่สะดวกต่อการออกกำลังกาย

          ต้องทำให้เข้าใจว่าอยู่ที่ไหนก็ออกกำลังกายได้ทั้งนั้น ใครที่ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นกลุ่ม แนะนำให้ไปออกกำลัง เดิน วิ่ง เต้นแอโรบิคที่สวนสุขภาพสาธารณะ หรือศูนย์ฟิตเนส ใครชอบกีฬาทางน้ำ ก็ไปสระว่ายน้ำสาธารณะ หรือใครที่ชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร หาอุปกรณ์ออกกำลังกายไว้ที่บ้าน เช่น ลู่วิ่งไฟฟ้า เครื่องปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรือหาอุปกรณ์เล็กๆไว้ที่บ้าน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ยางยืด ลูกเหล็ก เป็นต้น การที่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายไว้ที่บ้านสามารถทำให้การออกกำลังกายเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง

 

ปัญหาความเข้าใจว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย

          ไม่ว่าจะทำงานหนักมากแค่ไหนหรือมีธุรกิจส่วนตัวที่ตารางเต็มมากแค่ไหน แต่ความจริงแล้วทุกคนมีเวลาเสมอในการออกกำลังกาย ในกรณีนี้ ผู้ที่ให้การปรึกษาด้านการออกกำลังกาย อาจแนะนำให้ออกกำลังกายแบบสะสมเวลา กล่าวคือ ให้แบ่งการออกกำลังกายในแต่ละวันออกเป็นช่วงๆ เช่น ออกกำลังกายตอนเช้า  15 นาที แล้วกลับมาออกกำลังกายใหม่ก่อนรับประทานข้าวเย็นอีก  20 นาที การปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้การออกกำลังกายนั้นง่ายขึ้น เพียงมีเวลาสั้นๆ ตื่นเช้าหรือนอนดึกเพิ่มขึ้นอีกนิด คุณก็จะมีเวลาในการออกกำลังกายอย่างแน่นอน

 

ปัญหาการถูกบังคับให้ออกกำลังกาย

          การให้เวลากับการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าถูกบีบบังคับให้ออกกำลังกายในบางเวลาหรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่สะดวก ไม่ชอบหรือไม่เหมาะสมก็อาจจะทำให้ปฏิเสธการออกกำลังกายไปเลย ดังนั้น ควรแนะนำให้ออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน คือทำกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น เช่น การเดินระยะทางไกล เดินชอปปิ้ง หรือเดินขึ้นบันได เป็นต้น ทำให้นานขึ้น เพื่อทดแทนการออกกำลังกายที่มีแบบแผนไปก่อน จนกว่าจะพร้อมที่จะมาเข้าโปรแกรมการออกกำลังกายอย่างจริงจังในขั้นต่อไป

 

เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับการไม่ออกกำลังกายแล้ว

ออกกำลังทำได้ยาก แต่ทำได้

 

 

เอกสารอ้างอิง

-Dalle Grave, R., Calugi, S., Centis, E., El Ghoch, M., & Marchesini, G. (2010). Cognitive-behavioral strategies to increase the adherence to exercise in the management of obesity. Journal of obesity, 2011.

- กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคุมป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกกำลังกาย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2555) คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้องรังด้วยการออกกำลังกาย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Exercise Prescription for Diabetes, Hypertension, Obesity and Coronary Artery Disease), สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; กรุงเทพฯ

 

 500
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์