ทุกคนล้วนมีปัญหาต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การเรียน การงาน การเงิน หรือความรัก สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อความทุกข์ในจิตใจทั้งสิ้น
บางคนต้องแบกรับความทุกข์หนักเหมือนโปรโมชั่นจัดเต็มจนหาทางแก้ไขปัญหาไม่ได้ นานวันเข้าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ หรืออาจลุกลามไปถึงขั้นหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
จากข้อมูลของสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิตกล่าวถึงปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยที่ทำให้มีความทุกข์หนัก คือ
- ปัจจัยทางจิตใจ สังคม วัฒนธรรมเช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความสัมพันธ์ ฯลฯ
- ปัจจัยทางชีวภาพ/การแพทย์เช่น การเจ็บป่วยทางจิตเวช โรคซึมเศร้า หรือการติดสุรา
การแก้ปัญหาปัจจัยทางชีวภาพนั้นคงต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษา แต่สำหรับปัจจัยทางจิตใจนั้น คงต้องหาวิธีรับมือต่างๆ เช่น
1. มองโลกตามความเป็นจริง ยอมรับความจริงอย่างมีสติ ไม่จมอยู่กับปัญหา เพราะทุกคนก็เจอปัญหาไม่ต่างกับเรา
2. ต้องฝึกความคิดในเชิงบวก เช่น อ่านหนังสือพัฒนาตนเองในยามท้อแท้ฟังเพลงช่วยเสริมสร้างกำลังใจ
3. ฝึกจิตใจให้สงบ ฟังธรรมะ ทำให้เรามีสติอยู่กับตัวเอง
4. หาที่ปรึกษาที่ดีโดยพูดคุยหรือระบายปัญหาของเรากับคนที่ไว้ใจได้
5. ออกกำลังกายให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า มีพลัง ไม่รู้สึกหดหู่ เสริมสร้างบุคลิกภาพให้มีความมั่นใจ
6. ช่วยเหลือผู้อื่น หากิจกรรมอาสาสมัครและสาธารณประโยชน์ทำจะช่วยให้เห็นคุณค่าของตัวเองมากยิ่งขึ้น
การรู้จักรับมือความทุกข์ จะช่วยให้เราลดความยึดติดลงได้สุดท้ายก็จะส่งผลดีต่อร่างกายของเรา ไม่ให้มีโรคภัยมาเบียดเบียน