หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าโรคซึมเศร้า(Depression) เป็นอาการที่เกิดจากความผิดหวัง เสียใจ หรือเครียดหนักจากเรื่องราวต่างๆในชีวิต แต่แท้จริงแล้วโรคซึมเศร้ามีหลายสาเหตุ เช่นความผิดปกติของสารเคมีในสมองซึ่งถ่ายทอดได้ผ่านทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนของคนวัยทอง หรือหญิงหลังคลอด
นอกจากนี้โรคซึมเศร้าอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์ ยารักษาโรคความดันโลหิต โรคทางกายบางชนิดก็ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่นโรคอัมพาต
โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากสาเหตุทางด้านจิตใจ เช่นมีประสบการณ์สูญเสียหรือพลัดพรากจากคนที่รักสุดท้ายแล้วความเครียดหรือความหดหู่ที่เกิดจากโรคซึมเศร้าก็ย่อมส่งผลต่อร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายเช่น โรคหัวใจ
โรคซึมเศร้ามี 5 ชนิด ดังนี้
1. โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major depression) ผู้ป่วยจะอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์โดยมีอาการเศร้าสลดอย่างมากไม่สนใจกิจกรรมต่างๆถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วย และอาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย
2. โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia depression) ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก แต่มีอาการต่อเนื่องนานกว่าอย่างน้อย 2 ปี บางรายอาจนานถึง 5 ปี ถึงอาการไม่รุนแรงแต่ส่งผลต่ออารมณ์มาก
3. โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar disorder) ผู้ป่วยบางรายจะมีอารมณ์เซ็ง ซึมเศร้าสลับกับอาการลิงโลด โดยเป็นอารมณ์ที่ต่างกันอย่างสุดขั้วส่งผลต่อการตัดสินใจและมักก่อให้เกิดปัญหา เช่น การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือตัดสินใจผิดๆ และอาจมีความคิดฆ่าตัวตายในช่วงที่มีอาการซึมเศร้า
4.โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) เป็นภาวะทางอารมณ์ที่ทำให้หดหู่ท้อแท้ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้หญิงหลายคนหลังจากการคลอด มักมีอาการเมื่อลูกอายุได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์
5. โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal affective disorder)
มักไม่ค่อยพบในเมืองไทย คาดว่าน่าจะมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของแสงอาทิตย์ ซึ่งในหน้าหนาวจะมีแสงอาทิตย์น้อยลง การหลั่งสารเคมีในสมองจึงเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีอาการซึมเศร้า
เมื่อรู้สาเหตุและชนิดของโรคซึมเศร้าแล้ว ต่อไปก็มารู้จัก 9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า เพื่อให้ผู้ป่วย ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะป่วย หรือคนใกล้ชิดช่วยกันสังเกต
1. มีอารมณ์ซึมเศร้าหงุดหงิด โกรธง่าย
2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง หรือไม่มีความสุขในกิจกรรมต่างๆ
3. เบื่ออาหารและน้ำหนักลด
4. นอนไม่หลับหรือนอนเกือบทั้งวัน
5. ความคิดและการเคลื่อนไหวเชื่องช้ากระวนกระวาย
6. เหนื่อย อ่อนเพลียง่ายหรือไม่มีแรง
7. รู้สึกไร้ค่า ตำหนิตัวเอง หรือรู้สึกผิดมากผิดปกติ
8. ขาดสมาธิหรือมีความลังเลใจ
9. มีความคิดอยากตาย อยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย
หากมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 ข้อหรือมากกว่า ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ควรไปหาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและเข้ารับการรักษาต่อไป
แหล่งข้อมูล:
https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/depression