“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

สร้างสุขด้วยสติ ฝึกสมาธิเพื่อหัวใจ

สร้างสุขด้วยสติ ฝึกสมาธิเพื่อหัวใจ

ปัญหาของคนวัยทำงานส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นความเครียด เพราะ 1 ใน 3 ของแต่ละวันหมดไปกับการทำงาน บางคนโหมทำงานมากเกินไปจนสูญเสียสมดุลในชีวิต ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับหัวใจ

กรมสุขภาพจิตเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำคู่มือสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (Mindfulness In Organization : MIO) เพื่อเผยแพร่ความรู้และวิธีกำจัดความเครียดที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนด้วยการฝึกสติและสมาธิง่ายๆ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

นอกจากนี้ผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า การฝึกสติและสมาธิง่ายๆ ช่วยกำจัดความเครียดออกจากจิตใต้สำนึกอย่างได้ผลและยั่งยืน โดยเฉพาะคนกลุ่มวัยทำงาน 

 

สำหรับขั้นตอนในการฝึกสมาธิ 3 ขั้นตอนนั้น ประกอบด้วย

1. ฝึกหยุดความคิด 2 นาที โดยนั่งตัวตรง ศีรษะตรง หลับตาเบาๆ หายใจเข้าออกยาวๆสัก 5-6 ครั้ง ให้รับรู้ลมหายใจที่มาสัมผัสบริเวณปลายจมูก ซึ่งเราจะต้องตั้งใจจับความรู้สึกลมหายใจเข้าออก เนื่องจากบริเวณปลายจมูกมีประสาทรับรู้น้อยกว่าที่อื่น การรับรู้ลมหายใจจึงทำให้หยุดคิด เมื่อทำได้แล้ว ให้หายใจตามปกติ

2 .ฝึกจัดการความคิด 4 นาที ฝึกการจัดการความคิดที่เกิดขึ้นในใจ โดยให้รู้ตัวว่ามีความคิดเกิดขึ้น แต่อย่าติดตาม ปลดปล่อยความคิดนั้นไป และกลับมาสนใจที่ลมหายใจบริเวณปลายจมูก อย่าสั่งตัวเองให้หยุดคิดหรือว้าวุ่นวกวนกับความคิดเพราะจะทำให้จิตไม่สงบ วิธีนี้สมองจะค่อยๆปลดปล่อยความว้าวุ่นออกไปจากจิตใต้สำนึกจนสงบ

3. ฝึกจัดการความง่วงความง่วงเกิดจากจิตเริ่มสงบ ต้องจัดการโดยพยายามยืดตัวให้ตรง เพื่อให้ร่างกายตื่นตัว หายใจเข้าออกลึกๆ 5-6 ครั้ง เมื่อหายง่วงให้กลับมารับรู้ลมหายใจบริเวณปลายจมูกเช่นเดิม ช่วงเวลาฝึกสมาธิที่ดีที่สุดคือเช้าตรู่หรือก่อนนอน เนื่องจากเป็นช่วงที่สงบ

 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สติเป็นจิตที่มีคุณภาพในขณะทำงาน ส่วนสมาธิเป็นจิตที่มีคุณภาพขณะพัก ทั้ง 2 ส่วนนี้สัมพันธ์เกื้อหนุนกัน

การนั่งสมาธิทุกวัน วันละ 10-20 นาที จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคล ทำให้การทำงานดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น แสดงออกอย่างระมัดระวัง ตระหนักรู้ตัวเอง ทำให้จิตมีความรัก ความเมตตาเสียสละ และอดทน 

เนื่องจากจิตในขณะที่มีสติ จะทำงานโดยไม่วอกแวก ไม่ถูกสอดแทรกด้วยอารมณ์ ส่วนจิตขณะทำสมาธิจะหยุดคิดจนเกิดความสงบ เกิดการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นการคลายเครียดในระดับลึก

ตรงข้ามกับกระบวนการเกิดอารมณ์และความเครียด  ซึ่งจะเริ่มจากการสะสมความว้าวุ่น ความคิดลบจากแรงกดดันต่างๆและจบด้วยการเกิดอารมณ์และความเครียด 

 

จะเห็นได้ว่าการฝึกสมาธิมีประโยชน์มาก ไม่ใช่แค่ช่วยพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพและสุขภาพในระยะยาวด้วยหากเราปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตให้สอดคล้องย่อมทำให้เกิดความสมดุลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 


แหล่งข้อมูล 

http://www.springradio.in.th/columnist.php?page=1&menu_id=&columnist_id=20&content_id=65&subcontent_id=801

http://www.forums.dmh.go.th/index.php?topic=138805.0

https://www.matichon.co.th/news/552939

http://www.thaimio.com/

 

 

 1962
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์