คนไทยผจญกับ "สี่วายร้าย" เพิ่มขึ้น ข้อมูลที่มีบ่งชี้ว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาศัยอยู่ในเมือง พบว่าคนอ้วนมีมากขึ้น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติก็เพิ่มขึ้น ต้นเหตุของการเพิ่มขึ้นเชื่อว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินและทำงานออกแรงน้อยลง
โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ มีสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดคือ "ภาวะดื้ออินซูลิน"
คนอ้วนมีภาวะดื้ออินซูลินเกิดขึ้นเนื่องจากตัวรับอินซูลินบนไขมันมีจำนวนน้อยลง หรือการทำงานของอินซูลินด้อยประสิทธิภาพ สำหรับคนอ้วนที่มีภาวะดื้ออินซูลินจะเป็นอ้วนแบบลงพุง คือมีไขมันสะสมมากภายในช่องท้องและหน้าท้อง สามารถใช้รอบเอวบอกว่าอ้วนลงพุงหรือไม่ โดยทั่วไปแต่ละคนควรมีรอบเอวเพียงครึ่งหนึ่งของความสูงของตน ถ้าผู้หญิงมีรอบเอว 80 เซ็นติเมตรหรือมากกว่า และผู้ชายมีรอบเอว 90 เซ็นติเมตรหรือมากกว่าบ่งชี้ว่าอ้วนลงพุง หรือใช้อัตราส่วนของรอบเอวและรอบสะโพก เป็นดัชนีบ่งชี้อ้วนแบบลงพุง โดยในผู้ชายอัตราส่วนของรอบเอวและรอบสะโพกมากกว่า 1.0 และในผุ้หญิงอัตราส่วนของรอบเอวและสะโพกมากกว่า 0.8 บ่งชี้ว่าอ้วนแบบลงพุง ซึ่งคนอ้วนแบบลงพุงจะพบว่ามีสหายร่วมก๊วน คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติได้บ่อย คนอ้วนที่มีไขมันมากที่ตะโพกและต้นขา (Gynoid Type of Obesity) จะไม่ค่อยพบความผิดปกติทั้งสามร่วมด้วย
"อินซูลิน" เป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นโดยเบต้าเซลล์ของตับอ่อน นอกจากมีหน้าที่นำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานแล้ว ยังช่วยในขบวนการควบคุมและเผาผลาญไขมัน รวมทั้งควบคุมการสลายตัวของโปรตีนในร่างกายด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ "การดื้ออินซูลิน" ในคนอ้วนทำให้เกิดสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติ
การเกิดโรคเบาหวานภาวะดื้ออินซูลิน
การเกิดโรคเบาหวานในคนอ้วนมักเกิดขึ้นช้าๆ ในระยะต้น เมื่อเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ตับอ่อนจะสังเคราะห์และหลั่งอินซูลินมากขึ้น ถ้าปริมาณอินซูลินที่สูงขึ้นสามารถทำให้การออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อ ที่เซลล์ไขมัน และที่ตับเป็นปกติได้ บุคคลนั้นก็จะมีการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และการครองธาตุอื่นๆ เป็นปกติ ไม่เกิดโรค คือเป็นคนอ้วนที่มีระดับอินซูลินในเลือดสูงเท่านั้น ถ้าปริมาณอินซูลินที่หลั่งมากขึ้น สามารถทำให้การออกฤทธิ์ดีขึ้นเพียงบางส่วน บุคคลนั้นก็จะเป็นคนที่มีการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลน้อยลง เริ่มมีภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติเล็กน้อย แต่ถ้าอินซูลินที่หลั่งมากขึ้นไม่เพียงพอที่จะออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลได้ จะเกิดโรคเบาหวาน เมื่อมีการดื้ออินซูลินอยู่นานเข้า ตับอ่อนจะเสื่อมสมรรถภาพไม่สามารถหลั่งอินซูลินชดเชยได้ จึงเกิดโรคเบาหวานที่รุนแรง
การเกิดโรคความดันโลหิตสูงในภาวะดื้ออินซูลิน
ระดับอินซูลินที่สูงกระตุ้นให้มีการดูดกลับของโซเดียมโดยไตมากขึ้น นอกจากนี้ภาวะดื้ออินซูลินยังทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อการกระตุ้น และทำให้การหมุนเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงฝอยที่กล้ามเนื้อลดลง ทำให้มีความต้านทานปลายทางเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือความดันโลหิตสูง
การเกิดไขมันในเลือดผิดปกติในภาวะดื้ออินซูลิน
ความผิดปกติของไขมันที่พบบ่อยในคนอ้วน คือ ระดับไตรกลีเซอไรด์ และ/หรือ ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น แต่ระดับ เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล (HDL-C) ต่ำลง เนื่องจากตับนำกรดไขมันอิสระไปสร้างเป็นอณูไขมันเพิ่มขึ้น และปล่อยเข้ากระแสเลือด นอกจากนี้พบว่าในภาวะดื้ออินซูลินทำให้เอ็นซายม์ ซึ่งย่อยสลายไขมันทำงานลดลงด้วย ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูง และ/หรือ ระดับ เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล (HDL-C) ต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงอุดตัน
การป้องกันโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ
เราสามารถป้องกัน "สี่สหาย" ก๊วนนี้ได้โดยการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและปริมาณพอเหมาะกับร่างกาย ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติขั้นแรก หรือ ขั้นพื้นฐานของการป้องกัน การศึกษาในคนแถบตะวันตกและประเทศจีน ยืนยันว่า การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันโรคเบาหวานได้จริง
อ้างอิง : ศ.พญ. วรรณี นิธิยานันท์
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ