ความเสี่ยง
ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นโรคเบาหวาน มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานประมาณ 2-4 เท่า โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย (หญิง3.5 เท่า ผู้ชาย 2.1 เท่า) ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากโรคหัวใจประมาณ 70%
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2 ที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มีโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงไม่ว่าจะเป็นโคเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอร์ไลด์ โรคอ้วนลงพุง ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติทำให้เพิ่มความหนืดของเลือด การไหลเวียนของเลือดช้า เมื่อน้ำตาลและไขมันไปเกาะติดกับผนังหลอดเลือดที่เรียบหรือขรุขระทำให้เกิดการอักเสบบริเวณผนังหลอดเลือดแดงซึ่งมีผลทั่วร่างกายมากน้อยต่างกัน ทั้งที่เส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ สมอง ไต ตาและแขนขา เมื่อเกิดแผลการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดสร้างสารขยายตัวลดลง ประกอบกับมีไขมันเข้าไปเกาะติด ทำให้เกิดเป็นคราบตะกรันบริเวณผนังด้านในหลอดเลือด ในกรณีที่คราบตะกรันดังกล่าวเกิดร่อนหลุดทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิตได้ทันที ในรายที่เป็นเรื้อรังมีการพอกหนาของตะกรันมากขึ้นทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยและหัวใจล้มเหลวได้ บางรายมีหลอดเลือดสมองตีบจะมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง ในรายที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงแขนขาตีบจะมีอาการปวดชาขาและน่องเวลาออกเดิน ถ้าเบาหวานไม่ได้คุมให้ดีจะมีผลต่อหลอดเลือดแดงที่ตาทำให้ตาบอดได้ ผลต่อหลอดเลือดแดงที่ไตและเนื้อไตทำให้ไตวายได้ นอกจากนั้นแล้วเบาหวานอาจจะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงทำให้การคลายตัวและการบีบตัวของหัวใจล่างซ้ายแย่ลง เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
คุมอาหาร
ออกกำลังกาย
รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
คุมปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เลิกสูบบุหรี่
มาตรวจติดตามตามแพทย์นัดหรือมีอาการผิดปกติมาก่อนนัด
น้ำตาลในเลือด (fasting blood sugar) 110-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) 6.5-7%
ความดันโลหิต 130/80 มิลลิเมตรปรอท
ระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL cholesterol) 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
“ใส่ใจคุมเบาหวานเพื่อหัวใจและหวานใจของท่านครับ”
ด้วยความปรารถนาดีจากมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย
เรียบเรียงโดย นายแพทย์เกรียงไกร เฮงรัศมี