“ ด้วยเชื่อมั่นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ ”

โรคหัวใจในผู้สูงวัย

โรคหัวใจในผู้สูงวัย

     ผู้สูงวัย คือ ผู้ที่อายุเกิน 60-65 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มประชากรที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในประชากรทั่วโลก เนื่องจากการดูแลสุขภาพ ตลอดจนเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคที่ทันสมัย ทำให้ผู้คนอายุยืนยาวขึ้น สำหรับคนไทยสูงวัยมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน ผู้ชายจะอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 74 ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 76 ปี อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจและหลอดเลือดก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้สูงวัยนอกเหนือจากโรคมะเร็ง

                  เมื่อคนเราอายุมากขึ้น จะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (arteriosclerosis) ซึ่งเป็นผลมาจากความเสื่อมของอายุ โรค และภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง การสูบบุหรี่ ไม่รับประทานผักผลไม้ พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ซึ่งจะเกิดขึ้นกับหลอดเลือดทั่วร่างกาย แล้วแต่มากน้อยตามสภาพ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามบริเวณต่างๆได้แก่

         1.  หัวใจ     หลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

         2.  สมอง   เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตกได้ทำให้เป็นอัมพาต

         3.  ไต         หลอดเลือดหัวใจไตตีบ ไตเสื่อมและภาวะไตวาย

         4.  มือเท้า  หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน

นอกจากนั้นผู้สูงอายุจะมีโรคลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพที่พบบ่อยคือลิ้นหัวใจเอเออร์ติกตีบ เนื่องจากลิ้นนี้ต้องรับเลือดที่ออกจากหัวใจห้องซ้าย เพื่อส่งผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทำให้โดนแรงกระแทกของเลือดตลอดเวลา และทำให้เกิดหินปูนเกาะตามหลอดเลือด และเกิดการตีบตามมาได้

 

สัญญาณเตือนโรคหัวใจวัยสูงวัย

  1. อาการเหนื่อยง่าย เวลาออกแรง
  2. หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ต้องหนุนหมอนสูง
  3. แน่นหน้าอก
  4. ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม
  5. อาการที่ไม่เหมือนกับโรคหัวใจแต่เกิดจากโรคหัวใจ มักพบในผู้สูงวัยมากๆ หรือกลุ่มที่ป่วยนอนติดเตียง เช่น อ่อนเพลีย เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร โดยไม่รู้สาเหตุ เป็นต้น

 

โรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงวัย

         1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน

         2. โรคลิ้นหัวใจเอเออร์ติกตีบ (Aortic valve stenosis)

         3. โรคหัวใจสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation)

         4. ภาวะหัวใจเต้นช้า เกิดจากตัวกำหนดการเต้นของหัวใจเสื่อมหรือที่เรียกว่า Sick Sinus Syndrome

         5. หัวใจล้มเหลว

       

ดังนั้น เมื่อผู้สูงวัย หรือผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยชรา มีอาการเจ็บป่วย อย่าคิดว่าให้ปล่อยไปตามธรรมชาติของโรคหรือโรคคนแก่ เนื่องจากปัจจุบัน มีการตรวจวินิจฉัยรักษาที่ก้าวหน้า ส่งผลให้มีความปลอดภัย หายป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวครับ

      

พาผู้สูงวัย  ไปตรวจหัวใจ  กันเถอะ

 

 

เรียบเรียงโดย นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี

หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ  สถาบันโรคทรวงอก

 

 3645
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์